ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ครั้งแรก ทีมวิจัยจุฬาฯ-วช.เริ่มทดสอบวัคซีน COVID-19 ในลิง

Logo Thai PBS
ครั้งแรก ทีมวิจัยจุฬาฯ-วช.เริ่มทดสอบวัคซีน COVID-19 ในลิง
รอลุ้น! อีก 3 เดือน รู้ผลไทยทดลองวัคซีนต้นแบบ COVID-19 ชนิด mRNA ครั้งแรก ในลิงแสม 10 ตัว ที่ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จ.สระบุรี ชี้ทั่วโลกเดินหน้าวิจัยพัฒนา 200 ชนิด หากสำเร็จทุกขั้นตอนยังต้องรออีก 12-18 เดือน

วันนี้ (23 พ.ค.2563) ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (NVI) คณะนักวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทดลองวัคซีนต้นแบบป้องกันไวรัสโคโรนา (COVID-19) ชนิด mRNA ของศูนย์วัคซีน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประสบความสำเร็จในเบื้องต้นหลังทดสอบในหนูทดลองแล้ว โดยวันนี้ได้นำวัคซีนมาทดสอบในลิงที่ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี

 

ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า เราวิ่งแข่งเพื่อมวลมนุษยชาติ สิ่งที่ทำมากกว่าวิธีการ คือพัฒนาวัคซีนเอง และร่วมมือในระดับโลก หากต่างประเทศมีวัคซีนและตอบโจทย์ได้ก็จะได้ใช้ก่อน โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงมีโจทย์ให้คณะวิจัยว่าคนไทยต้องมีวัคซีนใช้เอง ทั้งภายใต้กรอบการวิจัยเองและการร่วมมือกันในระดับโลก

ทั่วโลกรอลุ้นวัคซีนอีก 12-18 เดือน

นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า วัคซีนต้นแบบชนิด mRNA ที่นำทดสอบฉีดในลิง เป็นอีกขั้นตอนสำคัญเพื่อทดสอบในสัตว์ใหญ่ที่มีลักษณะคล้ายมนุษย์ว่าจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อได้หรือไม่ รวมทั้งจะทดสอบว่าหากลิงติดเชื้อแล้วจะสามารถป้องกันเชื้อได้หรือไม่

 

ขั้นตอนการทดสอบในลิงจะใช้เวลาในการทดลอง 3-6 เดือน โดยใช้งบประมาณวงเงิน 60 ล้านบาท หากผ่านขั้นตอนนี้แล้วจะทดสอบในคน ซึ่งการทดสอบในคนจะแบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 ฉีดในจำนวนคนที่ไม่มากแล้วตรวจสอบว่าปลอดภัยหรือไม่ เพราะวัคซีนแต่ละแบบมีความแตกต่างทางด้านเทคโนโลยี

ทั่วโลกวิจัยและพัฒนาวัคซีนเกือบ 200 แบบ ส่วนใหญ่อยู่ในขั้นสัตว์ทดลองในสัตว์ขนาดเล็ก รวมทั้งของไทยที่มีการพัฒนาวัคซีน 5 แบบ และยังไม่แน่ใจว่าแต่ละแบบจะสำเร็จหรือไม่ และเมื่อใด แต่คาดว่าทั่วโลกหากสำเร็จในทุกขั้นตอนอาจจะมีวัคซีนออกมาใช้ใน 12-18 เดือน

เข็มแรก COVID-19 ทดสอบในลิง

ด้าน ศ.ดร.สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ ผอ.ศูนย์ไพรเมท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เมื่อเวลา 07.39 น.ได้ทดลองฉีดวัคซีน COVID-19 เข็มแรกในลิงทดลองแล้ว จากนั้นจะฉีดซ้ำเข็มที่ 2 ในอีก 1 เดือนข้างหน้า และอีก 1 เข็ม ในเดือนสิงหาคมนี้ โดยจะมีการเจาะเลือดดูทุกระยะของการทดสอบวัคซีนต้นแบบ เพื่อตรวจสอบว่าลิงจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสหรือไม่ โดยมีการทดลองวัคซีนในลิง 10 ตัว ซึ่ง 5 ตัวใช้โดสต่ำ อีก 5 ตัวโดสสูง ส่วนอีก 3 ตัว เป็นตัวควบคุมเทียบกับการทดสอบวัคซีน โดยใช้ลิงตัวเมียทั้งหมด อายุ 4-6 ปี เทียบเท่ากับคนอายุ 12-18 ปี

 

เหตุผลที่ต้องทดสอบในลิงแสม เนื่องจากเป็นสัตว์ที่ใกล้เคียงกับคน โดยต้องการหาคำตอบใน 4 เรื่องคือ ความเป็นพิษ ความปลอดภัย การกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และการทดสอบประสิทธิผลของวัคซีน

ศ.ดร.สุจินดา ยอมรับว่ามีความเครียด แม้ว่าจะเคยเจาะเลือดลิงมาเป็น 1,000 ตัว เพราะถือเป็นจุดเริ่มต้นในการทดลองวัคซีน COVID-19 ซึ่งต้องลุ้นว่าจะผ้านขั่นตอนนี้ไปสู่การทดสอบในคนได้หรือไม่

สำหรับศูนย์ไพรเมทแห่งชาติ ในปี 2563 มีการเลี้ยงลิงแสม จำนวน 406 ตัว เพื่อใช้ในการทดสอบวัคซีนโรคซิก้า และไวรัสไข้เลือดออก และไวรัส COVID-19 ที่เริ่มทดสอบวันแรก

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง