วันนี้ (23 พ.ค.2563) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงการดำเนินการแผนฟื้นฟูกิจการ ภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลายของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)ว่า
ล่าสุดทางกระทรวงการคลังได้แจ้งมายังกระทรวงคมนาคม ถึงความคืบหน้าในการขายหุ้นในสัดส่วนของกระทรวงคลังลงจำนวนร้อยละ 3.17 ให้กับกองทุนวายุภักดิ์เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นใหญ่ของกระทรวงคลัง ซึ่งจะทำให้การบินไทยสิ้นสุดการเป็นรัฐวิสาหกิจเพื่อเข้าสู่กระบวนการแผนฟื้นฟูกิจการ ภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่นั้น ในส่วนของกระทรวงคมนาคมยืนยันว่า หากกระทรวงคลังต้องการเป็นผู้ทำแผนเอง กระทรวงคมนาคมไม่ได้มีปัญหา เพียงแต่ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายให้ครบถ้วน
โดยเฉพาะขั้นตอนที่กระทรวงการคลังจะต้องทำหนังสือถึง คณะรัฐมนตรีเพื่อขอเปลี่ยนมติ ครม.เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมาที่ ครม.มีมติให้กระทรวงคมนาคมเป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยโดยเปลี่ยนให้การฟื้นฟูเป็นมาอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการคลังเพื่อให้การดำเนินการถูกต้องตามฎหมาย เพราะมติ ครม.ก็ถือเป็นกฎหมายที่มีผลไปแล้ว
รวมทั้งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา ทางกระทรวงคมนาคมได้ทำหนังสือถึง นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่ากา ระทรวงการคลังเพื่อขอให้กระทรวงการคลังโอนฉันทะในฐานะผู้ถือหุ้นเพื่อให้กระทรวงคมนาคมสามารถกำกับการบินไทยได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามมติ ครม.แต่ทางกระทรวงการคลังก็ไม่ได้ตอบจนมาถึงขั้นตอนที่กระทรวงคลังได้ลดสัดส่วนหุ้นของกระทรวงการคลังลงเพื่อให้การบินไทยหลุดพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งหากกระทรวงการคลังยังคงเพิกเฉย กระทรวงคมนาคมจะสอบถามกลับไปอีกครั้งหนึ่งในวันพุธที่ 27 พ.ค. นี้
ส่วนประเด็นเรื่องการต้องเปลี่ยนแปลงมติ ครม.ได้หรือไม่อย่างไร นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่าเมื่อการบินไทยมีสภาพเป็นเอกชนแล้ว กระทรวงคลังต้องเสนอ ครม.โอนอำนาจดูแลจากคมนาคมมาเป็นคลังหรือไม่ เรื่องนี้ต้องดูข้อกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องโดยละเอียดว่าทำได้หรือไม่ กฎหมายที่สำคัญในการพิจารณาคือพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด
เบื้องต้น หากเป็นรัฐวิสาหกิจมีกฎหมายรองรับกระทรวงคมนาคมเป็นกระทรวงเจ้าสังกัดของการบินไทยเมื่อพ้นจากรัฐวิสาหกิจแล้ว กระทรวงการคลังในฐานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และกระทรวงคมนาคมไม่ได้เป็นกระทรวงเจ้าสังกัดตามกฎหมาย จึงมีประเด็นว่า การจะโอนอำนาจ สิทธิ หน้าที่ ของผู้ถือหุ้น ให้แก่กระทรวงคมนาคม ทำได้หรือไม่ และความจริงแล้วเนื้อหาในมติ ครม. ไม่ได้มีประเด็นต้องทบทวนอย่างที่เป็นข่าว เพราะไม่ได้กำหนดไว้โดยตรงให้กระทรวงคมนาคมกำกับดูแล
"ที่สำคัญถ้ากฎหมายไม่เปิดช่องให้โอนสิทธิและหน้าที่ของผู้ถือหุ้นไปให้ใครได้ มติ ครม. จะออกโดยฝ่าฝืนกฎหมายไม่ได้ จึงต้องตรวจสอบกฎหมายอย่างละเอียดอีกครั้ง" ผอ.สคร.กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในสัปดาห์หน้า ต้องจับตาปัญหาดังกล่าว จะมีการพูดคุยใน ครม.อย่างไร ขณะที่มีรายงานความเห็นของผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย วิเคราะห์ว่า หากกระทรวงการคลังกลับมาเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ โดยต้องจับตาว่า หากกระทรวงคลังเสนอวาระแก้มติ ครม. เดิม จะยังมีการแก้ปัญหาการฟื้นฟูการบินไทยผ่านศาลล้มละลายกลางหรือไม่ หรือจะมีการเจรจากับเจ้าหนี้นอกศาล เนื่องจากก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังเคยสนับสนุนให้มีการใส่เงินสภาพคล่องเข้าไปช่วยการบินไทย โดยไม่ผ่าน พ.ร.บ.ล้มลายฯ ในศาลล้มละลายกลาง โดยเห็นว่า เมื่อท้ายสุด ไม่ว่าทำเรื่องฟื้นฟูในศาลหรือนอกศาล ก็ต้องใส่เงินช่วยการบินไทยอยู่ดี และหากขึ้นศาลล้มละลายเกรงว่าเจ้าหนี้จะมีอำนาจต่อรองสูง
อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคม ที่กำกับดูแลการบินไทยมาตลอด ทราบปัญหาในการบินไทยดี และเห็นว่าหากไม่มีการแก้ปัญหาการบินไทยให้ครบถ้วน เพียงแค่ใส่เงิน ไม่มีการตัด แยกงานที่ไม่ทำกำไรออกไป ปรับขนาดองค์กร ลดฝ่ายบริหารและพนักงานลงส่วนหนึ่ง การใส่เงินเข้าไป สุดท้ายก็จะทำให้ปัญหาวนกลับมาอีก การใส่เงินไปจะสูญเปล่า และในอนาคตการบินไทยก็จะเสี่ยงกลับมาขาดทุนอีก
โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้และพยายามให้กระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม ทำงานร่วมกันผ่านการมีซูเปอร์ บอร์ด ที่มีทั้งบุคคล ที่กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลังตั้งเข้ามาเพราะแม้กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ทำแผน บริหารแผนฟื้นฟู ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่เมื่อการบินไทยกลับมาบิน หลังสถานการณ์ COVID-19 ก็ต้องมีการประสานกับกระทรวงคมนาคม และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) , บมจ.ท่าอากาศยานไทย ในสังกัดกระทรวงคมนาคม