ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เจ็บกับเศรษฐกิจ แต่ฉุกคิดถึง “การพึ่งตนเอง”

เศรษฐกิจ
27 พ.ค. 63
13:15
712
Logo Thai PBS
เจ็บกับเศรษฐกิจ แต่ฉุกคิดถึง “การพึ่งตนเอง”
โควิด-19 บอกอะไร ? เมื่อประเทศรายได้สูงมียอดเสียชีวิตพุ่ง ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนากลับรับมือได้ดี อย่างเช่น “ไทย”ที่มีเครื่องมือเชิงรุกอย่าง อสม. แต่ประเทศกลุ่มนี้อาจต้องเผชิญกับผลกระทบด้านเศรษฐกิจอย่างหนัก และยากที่จะก้าวข้าม “กับดัก” รายได้ปานกลาง

ไทยพีบีเอส รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจจาก World Bank 2020 (Growth and Economic Structure Indicators) และ UN (World Economic Situation -2020) รวมถึงข้อมูลการระบาดโควิด-19 โดย WHO เพื่อจำแนกข้อมูลและหาความสัมพันธ์ระหว่างรายได้ของประเทศและอัตราการเสียชีวิต-ผู้ติดเชื้อโควิด-19

โดยมี รศ.ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ผ่านการวิจัยเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยการกระจายทรัพยากร ,การเมืองเรื่องการพัฒนา ,นโยบายสาธารณเปรียบเทียบ เพื่อตั้งข้อสังเกตและหาความเชื่อมโยงของข้อมูลดังกล่าว

ซึ่งผลการประมวลข้อมูลเชิงสถิติเบื้องต้น พบว่า ประเทศมีรายได้สูงมียอดผู้เสียชีวิตชัดเจน ขณะที่ประเทศมีรายได้ปานกลาง-ระดับล่าง ที่มี GDP สูงกลับพบอัตราการเสียชีวิตสูงเช่นกัน ส่วนประเทศรายได้ปานกลาง-ระดับบน แม้จะมีอัตราการเสียชีวิตสูง แต่ก็น้อยกว่าประเทศที่มีรายได้สูง และยังพบว่ากลุ่มประเทศเหล่านี้รับมือกับการระบาดของโควิด-19 ได้ ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูลและถอดรหัสข้อมูลชุดนี้จะกล่าวถึงในลำดับต่อไป

 

ข้อมูลข้างต้น มีข้อสังเกต คือ ประเทศที่มีรายได้สูงจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากกว่าประเทศที่มีรายได้น้อยกว่า และประเทศที่มีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจโลกเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตสูง

ข้อสังเกตเหล่านี้จึงนำมาสู่คำถามที่น่าสนใจ คือ 1.ประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งเหมือนจะมีระบบสาธารณสุขที่ดีพร้อม แต่กลับได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศด้อยพัฒนา 2.ระบบสาธารณสุขของประเทศเหล่านี้ใช้ได้ดีในยามปกติ (แต่เป็นระบบเก่า) เมื่อเกิดวิกฤตจึงไม่พร้อมทำงานในเชิงรุก

3.ประเทศรายได้ปานกลาง-ระดับสูง หลายประเทศไม่ได้มีความพร้อมด้านสาธารณสุข และมีความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจสูง เช่น บราซิล จีน และไทย ฯลฯ ซึ่งน่าเป็นห่วง เพราะจะส่งผลต่อการยกระดับสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง อาจกล่าวได้ว่าการระบาดของโควิด-19 ทำให้ประเทศเหล่านี้ติดอยู่ในสภาพ Middle Income Trap หรือ “กำดับรายได้ปานกลาง” ต่อไปหรือไม่ 

ไทยพีบีเอส สัมภาษณ์ รศ.ธนพันธ์ เพิ่มเติม เพื่อไขข้อสงสัยในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งได้รับคำตอบดังนี้

Q : ทำไมประเทศมีรายได้สูงจึงมียอดผู้เสียชีวิตสูงอย่างชัดเจน ?

A : ข้อมูลที่นำไปหาความสัมพันธ์ด้านสถิติ พบกลุ่มประเทศที่มีความสัมพันธ์กับข้อมูลการติดเชื้อและเสียชีวิตชัดเจน คือ กลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง (High Income Countries) หรือมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) สูง ที่กลายเป็นประเทศที่มียอดผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ผมเลยมาคิดทบทวนว่าเป็นเพราะอะไร ผมมองไปที่ประเด็นด้านสาธารณสุขของเขา ระบบของเขาต้องยอมรับว่าเป็นระบบที่ดี รวมทั้งเรื่องเทคโนโลยี เพราะเขาเป็นต้นทางในการผลิตเทคโนโลยี แต่ระบบสาธารณสุขของเขาเป็นระบบที่เหมาะกับยุคก่อน

เช่น อังกฤษ ระบบสาธารณสุขแบบนี้เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มันไม่ได้ถูกพัฒนาในเชิงรุก เพราะระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐานของเขาเน้นไปที่การรอรับผู้ป่วย ป่วยแล้วถึงเข้าสู่ระบบ ไม่ใช่ลักษณะเชิงรุก กลายเป็นว่าระบบสาธารณสุขของเราที่มี อสม. กลับเป็นระบบสาธารณสุขเชิงรุกที่ใช้ได้ในตอนนี้

ผมเลยมองว่าเขาอาจจะไม่ได้พัฒนาตรงจุดนี้ ระบบสาธารณสุขเชิงรุกมันอาจจะเป็นโอกาสของเราหรือประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (Upper Middle Income Countries) ที่จะมีโมเดลแบบนี้เกิดขึ้น ในอนาคตเป็นเรื่องที่จะต้องมาคิดกัน แต่ถ้าดูในแง่สถิติเราทำได้ดีกว่าหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้สูง เพราะฉะนั้นผมมองว่าเขา (ประเทศมีรายได้สูง) ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับระบบสาธารณสุขของเขา

Q : ขยายความเพิ่มสถานการณ์ที่ต่างกันของประเทศมีรายได้สูงและประเทศรายได้ปานกลาง ?

A : แม้ประเทศรายได้ปานกลางจะยอดผู้เสียชีวิตค่อนข้างเยอะ แต่ถ้าเทียบกับประเทศรายได้สูงยังถือว่าน้อยกว่า ซึ่งข้อสังเกตที่ผมได้จากการทำงานวิจัยด้านการเกษตร พบปัจจัยขององค์กรระหว่างประเทศหรือภาคเอกชนที่ไม่แสวงผลกำไรเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะระยะ 20 ปี ที่ผ่านมา องค์กรเหล่านี้ให้ความสำคัญกับการให้เทคโนโลยีกับประเทศที่กำลังพัฒนาค่อนข้างมาก จึงทำให้เกิดการถ่ายโอนความรู้เข้าไป ทั้งด้านการเกษตรและผมเชื่อว่าด้านสาธารณสุขก็ได้องค์ความรู้เหล่านี้เข้าไปด้วย

โจทย์คือประเทศเหล่านี้ไม่ได้มีปัจจัยพื้นฐานพร้อมมากนัก การจะตั้งรับในเรื่องการรักษาคนไข้เป็นไปได้ยาก ประเทศเหล่านี้ไม่มีความรู้ด้านการผลิตยา เวชภัณฑ์ ไม่มีทรัพยากรในการจัดหาโรงพยาบาล วิธีการหนึ่งคือการพัฒนาสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะการป้องกันหรือเป็นสาธารณสุขแบบเชิงรุก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถูกพัฒนามาหลายสิบปี (กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา) เป็นข้อดีส่วนหนึ่งของโลกาภิวัฒน์ที่ทำให้องค์กรเหล่านี้มีบทบาทกับประเทศที่กำลังพัฒนาให้ได้รับองค์ความรู้เหล่านี้ มันเลยเป็นประโยชน์ในตอนนี้

พอเกิดวิกฤตปุ๊บ ต้องอาศัยสาธารณสุขเชิงรุกเข้าไปตรวจและเข้าไปคัดกรอง เพื่อดูว่ากลุ่มไหนเสี่ยงหรือไม่เสี่ยง ดีกว่าการตั้งรับ ซึ่งมันชัดเจนแล้วว่าการตั้งรับไม่ได้ผล

บทบาทขององค์กรที่ช่วยพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานมีผลเหมือนกัน อย่างที่ผมบอกว่าเคยทำวิจัยเรื่องการเกษตร เช่น แอฟริกา ที่มีการพัฒนาด้านเกษตรค่อนข้างมาก ซึ่งได้องค์ความรู้จากองค์กรระหว่างประเทศหรือเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร โดยการใช้ฐานข้อมูล เช่น ใช้ข้อมูลจากจีพีเอสทำข้อมูลด้านการเกษตร

ซึ่งถ้าเทียบกับบ้านเรายังต่างกันเยอะ บ้านเรามีหลายพื้นที่ที่ไม่มีข้อมูลแบบนั้น ผมคิดว่าข้อมูลสาธารณะก็น่าจะได้รับการพัฒนาฐานข้อมูลเช่นเดียวกัน มันจึงส่งผลดีในตอนนี้ ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วชะล่าใจ เพราะคิดว่าระบบของฉันดีอยู่แล้ว แต่พอเจอโรคระบาดที่เกิดขึ้นแบบไม่คาดคิดมาก่อน เลยเกิดปัญหาคือระบบไม่สามารถรับได้

Q : โควิด-19 มีแนวโน้มส่งผลต่อเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศต่างๆ อย่างไร ?

A : ส่งผลแน่นอนครับ ผมยกตัวอย่างเช่นบราซิล เป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง ซึ่งอยู่ในกลุ่มยูเอ็น บราซิลเป็นตัวอย่างประเทศระบบทุนนิยมและมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก เมื่อเจอวิกฤตเหล่านี้ทำให้รัฐบาลไม่สามารถจัดการระบบสาธารณสุขดูแลคนได้อย่างเต็มที่ อาจะมีข่าวว่าบราซิลเตรียมพร้อม จัดโรงพยาบาลสนามต่างๆ แต่สุดท้ายมันสะท้อนว่าคุมไม่อยู่ ยอดเพิ่มสูงขึ้น มีผลต่อความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

 

กลายเป็นว่าคนที่เข้าถึงระบบสาธารณสุขอาจจะเป็นเฉพาะบางกลุ่ม ส่วนคนที่มีรายได้น้อยก็อาจจะเข้าไม่ถึง มันคงไม่ใช่แค่โควิด-19 อย่างเดียว แต่โควิด-19 เป็นปัจจัยเร่งหรือปัจจัยที่เปิดแผลให้กับประเทศเหล่านั้น ซึ่งอาจจะมีปัญหาด้านเศรษฐกิจอยู่แล้วหรือซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่แล้ว

ผมคิดว่าประเทศที่ยังไม่พร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานสาธารณสุขก็คือประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และยิ่งรัฐบาลไม่มีนโยบายที่รัดกุมพอหรือผู้นำทางการเมืองมีนโยบายที่ไม่ได้ให้ความสำคัญตามที่เราเห็นในหลายประเทศ มันอาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นและการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมถึงส่งผลต่อการลดความเหลื่อมล้ำระยะยาว

Q : สิ่งที่เห็นในบราซิลเมื่อมองย้อนกลับมาในบริบทสังคมไทย ?

A : เป็นคำถามที่น่าสนใจ ผมมองว่าเรื่องความเหลื่อมล้ำเราก็ไม่ได้ดีกว่าบราซิลเท่าไหร่ เราเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง แต่สิ่งที่เราอาจจะดีกว่าคือระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน คือการมี อสม. ซึ่งตรงนี้ผมมองว่าเป็นโอกาสที่รัฐบาลจะใช้โอกาสนี้เพื่อพัฒนาความเข้มแข็งสาธารณสุขขั้นพื้นฐานในเชิงรุกที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะทุกวันนี้ระบบมีอยู่แล้ว แต่เป็นการใช้ศักยภาพที่มีอยู่แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

แต่ถ้าเราทำให้เข้มแข็งมากขึ้น อสม. เป็นมืออาชีพมากขึ้น มีองค์ความรู้มากขึ้น และสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้คน เหมือนกับเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขไปเลย ตรงนี้น่าจะพอช่วยลดความเหลื่อมล้ำ มันอาจจะช่วยบรรเทาเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุขได้บ้าง โดยเฉพาะพื้นที่ชนบท ส่วนปัญหาใหญ่เรื่องเศรษฐกิจเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะต้องพูดกันอีกเยอะเพราะระบบเศรษฐกิจมันซับซ้อนมาก

ผมเองก็ยอมรับตรงๆ พอมานั่งดูช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา โควิด-19 มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจเรามาก และมีหลายส่วนในระบบเศรษฐกิจที่กระทบไปหมด

Q : โควิด-19 จะหน่วงให้ประเทศกำลังพัฒนา ติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางนานขึ้น ?

A : ผมมอง 2 มุม ด้านปัจจัยหน่วง งบประมาณหรือทรัพยากรบางส่วนต้องถูกใช้ในการฟื้นฟูและชดเชยกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น เช่น งบประมาณด้านการพัฒนานวัตกรรมคงขาดหาย และจะมีผลกระทบต่อการก้าวขึ้นเป็นประเทศรายได้ระดับสูง เพราะการจะเป็นประเทศรายได้ระดับสูง ต้องอาศัยองค์ความรู้และการพัฒนานวัตกรรม

อีกด้านหนึ่ง ถ้าผู้มีอำนาจหรือผู้จัดทำนโยบายมองว่าเป็นโอกาสที่เราจะพัฒนา เช่น พัฒนาระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐานให้เข้มแข็ง อย่างน้อยมันเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงระบบสาธารณสุข ผมคิดว่าตรงนี้เป็นตัวสำคัญที่อาจจะกลายเป็นตัวช่วยผลักดันก็ได้

 

หรืออย่างเช่นการพัฒนา อสม. ในพื้นที่ชนบทให้เป็นผู้เชี่ยวชาญไปเลย นี่เป็นการพัฒนาการจ้างงานอย่างหนึ่งและพัฒนาองค์ความรู้ด้วย  จะทำให้สังคมชนบทที่เราเคยปล่อยปละละเลยหรือสังคมภายนอกที่เดิมพึ่งพิงอยู่กับส่วนกลางตลอด เขาจะได้มีอิสระเสียที พึ่งพาตัวเองได้ เราไม่จำเป็นต้องเสียงบประมาณมากมายเพื่อการอุดหนุน ซึ่งถ้ามีโอกาสผมพูดเสมอว่า ถ้าเราอยากเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับสูง เรื่องการอุดหนุนระยะสั้น เช่น การให้เงินเป็นครั้งคราวต้องลดลง ให้ประชาชนได้ยืนอยู่บนขาของตัวเอง ยืนอยู่บนลำแข้งของตัวเอง

โดยสรุป ด้านหนึ่งมันเป็นปัจจัยหน่วง เพราะประเทศต้องจัดสรรทรัพยากรมาช่วยฟื้นฟู ซึ่งงบประมาณที่จะใช้อาจทำให้งบประมาณที่ใช้พัฒนานวัตกรรมถูกลดทอน แต่อีกด้านหนึ่งอาจจะเป็นปัจจัยที่ช่วยผลักดันประเทศ ถ้าผู้มีอำนาจและผู้มีส่วนในการจัดทำนโยบาย ใช้เป็นโอกาสในการพัฒนาระบบสาธารณสุข ซึ่งเป็นระบบที่เกี่ยวข้องกับการระบาดโควิด-19 ซึ่งผมเชื่อว่ามันคงไม่ใช่โรคระบาดสุดท้ายในโลก อีกไม่กี่สิบปีข้างหน้าก็อาจจะมีแบบนี้อีก

ผมคิดว่าแม้มันจะเป็นปัจจัยหน่วง แต่ก็อาจเป็นโอกาสให้หลายประเทศได้คิดถึงโอกาสในการพัฒนา

ผู้สื่อข่าว – โลกหลังโควิด-19 เป็นโลกที่อยู่ภายใต้การคาดการณ์ ซึ่งสิ่งที่หนึ่งจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์นี้คือระบบเศรษฐกิจ ที่จะได้รับผลกระทบมากน้อยขึ้นอยู่กับความเสียหายจากโควิด-19 และต้นทุนทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้จากวิกฤตครั้งนี้ คือ "ระดับรายได้" ไม่ใช่ตัวชี้วัดศักยภาพในการรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้น ความไม่พร้อมบางด้าน เช่น ระบบสาธารณสุข หรือ โครงสร้างด้านเศรษฐกิจ กลับเป็นปัจจัยเหนี่ยวนำให้ประเทศกำลังพัฒนาเหล่านั้นได้มีโอกาสรับองค์ความรู้และหาแนวทางการรับมือที่เหมาะกับบริบทของประเทศนั้นๆ ซึ่งเมื่อเกิดวิกฤตก็พร้อมที่จะรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โลกหลังโควิด-19 ก็เช่นกัน ยังคงเป็นพื้นที่ที่มี "โอกาส" ให้ประเทศที่กำลังพัฒนา ได้ค้นหาศักยภาพในการพึ่งพาตนเอง รวมถึงหาแรงผลักที่จะพาตนเองข้ามพ้นกฤตด้านเศรษฐกิจ หรืออาจจะก้าวพ้นจากการเป็นประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง แม้จะได้รับผลกระทบจากความเสียหายอันเกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง