วันนี้ (28 พ.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณี พ.ร.ก.กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท ว่า มีการอภิปรายในสภาถึงกรณีการกู้เงินดังกล่าว โดยยืนยันอีกครั้งว่า พ.ร.ก.ที่ ธปท.เสนอ ไม่ควรเรียกว่าเป็น พ.ร.ก.กู้เงิน เพราะหัวใจของ พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับ คือการให้อำนาจ ธปท.เข้าไปบริหารจัดการสภาพคล่องได้ตรงจุด ซึ่งเมื่อครบ 2 ปี เงินที่ ธปท.ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน ผ่านสถาบันการเงินไปให้เอสเอ็มอี ทางสถาบันการเงินก็จะต้องนำเงินดังกล่าวนั้นกลับมาคืน ธปท.
ส่วนเงินที่ ธปท.จะลงทุนผ่านกองทุนบีเอสเอฟ เป็นการให้บริดจ์ ไฟแนนซิ่งชั่วคราว เมื่อครบกำหนดก็เอาเงินกลับมาคืนเช่นกัน โดย ธปท.ได้เน้นเรื่องคุณภาพของตราสารที่กองทุนบีเอสเอฟเข้าไปลงทุน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย
ผู้ว่าการ ธปท.ระบุอีกว่า ทั้งกลไกของซอฟต์โลน และกองทุนบีเอสเอฟ ไม่ใช่การกู้เงิน 9 แสนล้านบาท มาใช้จ่าย หรืออีกนัยหนึ่งไม่ได้สร้างภาระการคลัง 9 แสนล้านบาท หรือไม่ได้สร้างภาระภาษี 9 แสนล้านบาท ให้ลูกหลานตามที่มีการแสดงความกังวลเกิดขึ้น โดยทั้ง 2 กลไกอาจจะสร้างภาระการคลังในอนาคตได้บ้าง หากสินเชื่อซอฟต์โลนที่ปล่อยให้เอสเอ็มอีจำนวนมากเกิดกลายเป็นหนี้เสีย หรือตราสารหนี้ที่กองทุนบีเอสเอฟเข้าไปลงทุนไม่ได้รับชำระหนี้คืน
ซึ่งตาม พ.ร.ก.แล้ว รัฐบาลจะชดเชยความเสียหายให้เพียงบางส่วนเท่านั้น ธปท.ตระหนักดีว่าทั้ง 2 กลไกที่ ธปท.เสนอไม่พึงสร้างภาระการคลังให้กับคนไทยในอนาคต จึงต้องมีเงื่อนไขด้านคุณภาพอย่างรัดกุม ทั้งการปล่อยสินเชื่อผ่านซอฟต์โลน และการลงทุนผ่านกองทุนบีเอสเอ