วันนี้ (30 พ.ค.2563) นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล ส.ส.เลย พรรคเพื่อไทย กล่าวอภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) เพื่อพิจารณากฎหมายว่าด้วยการเงิน 4 ฉบับ รวมวงเงิน 1.98 ล้านล้านบาทว่า ขอใช้สิทธิ์อภิปรายต่อ พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศปี 2563 ซึ่ง พ.ร.ก.ฉบับนี้ ออกมาด้วยความปรารถนาดีของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะมุ่งหวังรักษาเสถียรภาพของของระบบสถาบันการเงินและระบบการเงิน โดยเข้าไปแทรกแซงตลาดตราสารหนี้เอกชนผ่านทางกองทุนรวม ที่มีชื่อว่ากองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (บีเอสเอฟ) ซึ่งจากการฟังสัมภาษณ์ผู้ว่าการ ธปท.หลายครั้ง ระบุว่ากองทุนบีเอสเอฟจะเป็นกองทุนที่พักพิงแหล่งสุดท้าย
ทั้งนี้ เราไม่ได้ปฏิเสธความปรารถนาดีของ ธปท.ในการออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ แต่เมื่อเข้าไปดูในรายละเอียดพบข้อบกพร่องอาจจะเป็นอันตรายต่อสถานภาพของ ธปท. และอาจเป็นภาระที่ประชาชนจะต้องแบกรับในอนาคต ซึ่งมีข้อกังวลของประชาชนดังนี้ 1. พ.ร.ก.ฉบับนี้ กำลังจะดึงเอา ธปท.ไปเป็นคู่ขัดแย้งกับเอกชน 2.หลายฝ่ายบอกว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ อุ้มคนรวย ไม่ช่วยคนจน ซึ่งจากการเข้าไปศึกษาด้วยตัวเอง พบว่าไม่ใช่เป็นการอุ้มคนรวย แต่กำลังจะเป็นการอุ้มคนระดับเจ้าสัว เพราะเงื่อนไขของการเข้าไปช่วยเหลือของกองทุนบีเอสเอฟนั้น ตราสารนี้ภาคเอกชนที่ลงทุนได้จะต้องเป็นตราสารหนี้ที่ผู้ออกมีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับลงทุนได้
อย่างไรก็ตาม การที่คนรวยจะเข้าไปลงทุนตราสารหนี้เพื่อดอกเบี้ย เชื่อมั่นว่าคนรวยที่ซื้อหุ้นกู้เอกชนไม่น่าหนักใจ เพราะแต่ละบริษัทมีความน่าเชื่อถือ แต่กองทุนนี้ หรือ พ.ร.ก.ฉบับนี้ กำลังจะอุ้มเจ้าของบริษัทชั้นนำเหล่านี้ที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้อยู่แล้ว และมีทรัพย์สินมากพอที่จะนำนำไปค้ำประกันสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์และได้เงินมาเพื่อจ่ายคือหุ้นกู้เหล่านี้ เปรียบเสมือนเจ้าสัวหรือบริษัทเหล่านี้กำลังจะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ โดยหุ้นกู้เหล่านี้ ถ้ากังวลจะขายไม่ออก แค่เพิ่มอัตราดอกเบี้ย คนรวยที่อยากจะซื้อ คิดว่าคนระดับที่มีเงินพอที่จะซื้อได้จะเข้าคิวซื้อ หรืออีกวิธีหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาตัวเขาเองได้ ก็แค่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ขอยืดระยเวลาคืนหนี้ไปอีกระยะเวลาหนึ่ง เชื่อว่าสามารถที่จะทำได้
นายเลิศศักดิ์ กล่าวอีกว่า ข้อบกพร่องและห่วงใยประการที่ 3 ซึ่งได้ยินผู้ว่า ธปท.ให้สัมภาษณ์บ่อยครั้งว่าต้องทำให้โปร่งใสมากที่สุด ลดการใช้ดุลพินิจ มากที่สุด แต่ปรากฏว่าการตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้ มีช่องโหว่ที่จะทำให้คณะกรรมการลงทุนหรือคณะกรรมการการกำกับการลงทุนต้องได้ใช้ดุลพินิจ และเสี่ยงที่จะเกิดข้อกล่าวหาเรื่องความโปร่งใส หรือแม้กระทั่งผลประโยชน์ทับซ้อน และที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือการไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ใดๆ รองรับไว้
4. ขอตั้งคำถามว่าสภาพคล่องส่วนเกินที่จะนำมาซื้อตราสารหนี้ในตลาดรอง เป็นสภาพคล่องอะไร มีมูลค่าเท่าไหร่ และจะซื้อได้มากน้อยแค่ไหนในสถานการณ์ที่เกิดวกฤตการณ์ทางการเงินอยางแท้จริง หรือ ธปท.จะต้องพิมพ์ธนบัตรออกมา แล้วมาซื้อตราสารหนี้เหมือนดังเช่นธนาคารกลางประเทศอื่นเขาทำกันหรือไม่ อยากได้ความขัดเจน
ส่วนประการสุดท้าย พ.ร.ก.ฉบับนี้กำลังจะลอยแพกลุ่มที่เรียกว่าตราสารหนี้ที่ถูกจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าลงทุนได้ ซึ่งมีอยู่ประมาณร้อยละ 6 ของตลาดตราสารหนี้โดยรวมประมาณ 2 แสนล้านบาท ซึ่งน่าเป็นห่วง เพราะว่าผู้ที่เข้าไปลงทุนในตราสารหหนี้ ที่ ก.ล.ต.อนุญาตให้ออกมาได้ คือประชาชนคนไทยเช่นเดียวกัน แต่ปรากฏว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ พูดถึงแต่รายใหญ่ที่มีสินทรัพย์ มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือไว้ในระดับที่ลงทุนได้ นั่นหมายความว่าเรากำลังทิ้งอีกกลุ่มหนึ่งไว้ข้างหลังหรือไม่ ตรงนี้ยังเป็นสิ่งที่สงสัยและอยากรับฟังข้อชี้แจงของทางกระทรวงการคลัง หรือ ธปท.เอง
นายเลิศศักดิ์ กล่าวอีกว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ ตามความเจตจำนงของ ธปท. หากมิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของเจ้าสัว หรือของกลุ่มทุนใหญ่รายใดรายหนึ่ง และมุ่งมั่นที่จะเป็นไปเพื่อรักษาเสถียรภาพตลาดเงินในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ เศรษฐกิจของประเทศก็จะเติบโตอย่างมั่นคง แต่ในทางตรงข้าม ถ้าหากเป็นไปด้วยการเอื้อประโวยชน์ต่อกลุ่มทุนรายใดรายหนึ่งแล้ว เชื่อว่าจะเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจไทย รวมถึงสถานภาพของ ธปท.เอง