วันนี้ (4 มิ.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การล็อกคอเพื่อควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยมีหลายวิธี ซึ่งสำนักงานตำรวจแต่ละพื้นที่ก็มีข้อกำหนดที่แตกต่างกันออกไป ส่วนท่าใช้เข่ากดคอ แม้หลายเมืองห้ามทำ แต่ไม่ใช่ที่มินนิอาโพลิส รัฐมินนิโซตา ประเทศสหรัฐอเมริกา
สถิติที่น่าสนใจพบว่า ตำรวจมินนิอาโพลิสใช้กำลังล็อกคอผู้ต้องสงสัยมาแล้วหลายร้อยคนในช่วงไม่ถึง 10 ปีที่ผ่านมา และประเด็นที่น่าสังเกตคือ ในจำนวนนี้เป็นคนผิวดำมากถึง 2 ใน 3
ข้อมูลจากบันทึกการใช้กำลังปราบปรามของสำนักงานตำรวจเมืองมินนิอาโพลิส ชี้ให้เห็นว่า ตั้งแต่ปี 2555 ตำรวจเมืองนี้ใช้วิธีการล็อกคอเพื่อควบคุมบุคคลที่มีพฤติกรรมน่าสงสัยมากถึง 428 คน ในจำนวนนี้มีคนที่ถูกล็อกคอจนหมดสติมากถึง 58 คน
คำนิยามของการ "ล็อกคอ"
คู่มือการใช้กำลังปราบปรามของสำนักงานตำรวจเมืองมินนิอาโพลิส ระบุรายละเอียดของการล็อกคอด้วยวิธีต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ โดยแบ่งเป็นการทำ Chokehold หรือการล็อกคอจากด้านหลังและกดไปที่หลอดลม จนทำให้ขาดอากาศ วิธีนี้ใช้ในกรณีร้ายแรง เพราะเป็นท่าที่อันตราย ซึ่งตำรวจในหลายเมืองห้ามใช้
ส่วนการล็อกคอแบบอื่นที่ทำได้ คือการใช้แขนหรือขาของเจ้าหน้าที่กดไปที่คอ อาจจะกดข้างเดียวหรือสองข้างของลำคอก็ได้ แบ่งย่อยออกเป็นการกดคอเพื่อควบคุมตัวแบบปกติทั่วไป และการกดคอให้หมดสติที่ต้องใช้แรงกดมากกว่า กรณีหลังนี้จะใช้กับผู้ที่ขัดขืนการจับกุมหรือแสดงอาการก้าวร้าวรุนแรง แต่วิธีการเหล่านี้จะต้องไม่ไปกดหลอดลม ซึ่งถ้าทำถูกวิธีและเหมาะสมก็จะไม่เป็นอันตราย
วิธีการทั้งหมดที่ว่ามานี้ ตำรวจมินนิอาโพลิสใช้กับผู้ต้องสงสัยไปถึง 428 คน ตลอดเวลากว่า 8 ปีที่ผ่านมา เป็นที่น่าสังเกตว่า 280 คน หรือ 65% จาก 428 คนที่กล่าวมานี้เป็นคนผิวสี หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2 ใน 3 ตามมาด้วยคนผิวขาว ชนพื้นเมืองอเมริกัน และคนเชื้อชาติอื่นๆ
ขณะที่ที่มินนิอาโพลิส มีประชากรผิวสีเพียง 19.4% หรือไม่ถึง 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งหมด 400,000 กว่าคน จาก 428 คนที่ถูกตำรวจล็อกคอ มี 58 คน ที่ถึงขั้นหมดสติและเกือบครึ่งหนึ่งของคนที่หมดสติ ลงเอยด้วยการได้รับบาดเจ็บ เพียงแต่ข้อมูลไม่ได้ลงรายละเอียดชัดเจนว่าเจ็บมากหรือน้อยเพียงใด
ในจำนวนผู้ที่ถูกล็อกคอถึงขั้นหมดสติ เป็นคนผิวสีมากถึง 33 คน หรือ 57% ของทั้งหมด และเกือบทั้งหมดเป็นเพศชาย แม้ว่าคู่มือของสำนักงานตำรวจจะระบุไว้ว่าวิธีการเหล่านี้ให้ใช้ได้ต่อเมื่อตำรวจเผชิญหน้ากับการขัดขืนอย่างรุนแรง แต่ก็ย้ำชัดว่าไม่ควรใช้กับผู้ที่ไม่ได้ขัดขืนการจับกุม
แต่ในทางปฏิบัติแล้ว พบว่า ข้อมูลจากบันทึกการจับกุมหลายกรณีชี้ว่า ผู้ต้องสงสัยมักขัดขืนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และเหตุผลที่ตำรวจตัดสินใจล็อกคอใครสักคน ก็เพียงเพราะบุคคลนั้นๆ มีพฤติกรรมต้องสงสัยเท่านั้น
ผู้เชี่ยวชาญชี้ใช้เข่ากดคออันตราย
ผู้เชี่ยวชาญหลายคน มองว่า การใช้เข่ากดคอยังไม่ถือเป็นการล็อกคอด้วยซ้ำ และเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ซึ่งการที่จะล็อกคอให้ถูกวิธีและให้ปลอดภัยสำหรับผู้ที่ถูกควบคุมตัวก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และเจ้าหน้าที่ต้องผ่านการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีด้วย
เหตุผลที่การใช้เข่ากดคอไม่เหมาะสม ผู้เชี่ยวชาญชี้ชัดว่า เพราะเป็นวิธีที่จะก่อให้เกิดอันตราย ยิ่งในกรณีที่ตำรวจจับมือผู้ต้องสงสัยไพล่หลังและให้นอนคว่ำหน้ากับพื้น ทำให้ไม่สามารถหายใจได้เต็มปอด ร่างกายขาดออกซิเจนและหากอยู่ในท่านี้นานเกินไปก็อาจหมดสติได้ และเมื่อทำพร้อมกับการใช้เข่ากดคอ การทิ้งน้ำหนักตัวของคนทั้งคนลงบนคอหรือศีรษะ ยิ่งเสี่ยงต่อการปิดกั้นหลอดลม หรืออาจทำให้กระดูกสันหลังส่วนคอและกระดูกที่อยู่ในคอแตกร้าวได้ ซึ่งหากตำรวจจำเป็นต้องใช้ท่านี้เพื่อยับยั้งการขัดขืนจริงๆ และต้องหมั่นสังเกตอาการอย่างละเอียดด้วย
ผู้เชี่ยวชาญยังตั้งข้อสังเกตว่า ท่านี้ควรใช้เมื่อสถานการณ์เข้าขั้นคอขาดบาดตาย เพราะว่าอาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้ แต่จากคลิปวิดีโอกรณีที่ตำรวจใช้เข่ากดคอฟลอยด์เสียชีวิต ในขณะที่ฟลอยด์ไม่ได้ขัดขืนใดๆ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ด้วยการใช้ท่ากดที่อันตรายโดยไม่จำเป็นและไร้ความปราณี