วันนี้ (5 มิ.ย.2563) พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ ผู้บังคับการข่าวกรองยาเสพติด กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ในฐานะหัวหน้างานชุดประสานงานประสานความร่วมมือกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยผลการปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดว่า สถิติจากวันที่ 25 พ.ค. จนถึงวันนี้ สามารถติดตามจับกุมผู้กระทำผิดในการโพสต์เนื้อหาบิดเบือนหรือไม่เป็นความจริง ในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ 9 คน ในจำนวนนี้มีผู้ต้องหา 3 คน ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่วนอีก 6 ราย ตำรวจได้ว่ากล่าวตักเตือนและให้ลบเนื้อหา ข้อความที่ไม่เป็นความจริงออกจากสื่อออนไลน์
สำหรับพฤติการณ์ของผู้กระทำผิด ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือโพสต์ ข้อความ ระบุว่า มีหญิงคนหนึ่งป่วย COVID-19 เป็นลมกลางห้าง ในเมืองระยอง ซึ่งเป็นข้อความที่ไม่เป็นความจริง ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกให้คนในสังคม ส่วนอีก 2 คน กระทำผิด ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ เนื่องจากโพสต์ข้อความมีเนื้อหาบิดเบือน อ้างถึงการทานกระเทียม ต้านโรค COVID-19 ได้ และการดื่มขิงน้ำกระชายผสมน้ำผึ้งมะนาว ช่วยต้านโรค COVID-19 ขณะที่อีก 6 คน เป็นการแชร์เนื้อหาที่ระบุว่ารัฐหลอกให้ลงทะเบียนรับเงินเยียวยาเพื่อจะเรียกเก็บภาษี ซึ่งกรมสรรพากรยืนยันแล้วว่าไม่เป็นความจริง ตำรวจได้ตักเตือนและให้ลบโพสต์ไปจากสื่อออนไลน์
พล.ต.ต.พันธนะ เตือนประชาชนผู้ใช้สื่อออนไลน์ด้วยว่าก่อนจะโพสต์เผยแพร่หรือแชร์ต่อเนื้อหาใด ให้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเนื้อหาหรือที่มาก่อน เพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบความต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจของประเทศ ไปจนถึงการสร้างความตื่นตระหนกในสังคม จะมีความผิดทางกฎหมาย ซึ่งการการโพสต์ข่าวปลอม ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับและความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะมีโทษจำคุก 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ