วันนี้ (5 มิ.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สำรวจสภาวะการครองชีพของครัวเรือนไทยที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในช่วงวันที่ 21-28 พ.ค.2563 พบประเด็นที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้ อัตราการว่างงานในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เดือน พ.ค.2563 อยู่ที่ 9.6% โดยส่วนใหญ่ว่างงานจากผลกระทบของ COVID-19 และมาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ
ทั้งนี้ อัตราการว่างงานน่าจะอยู่ในระดับสูงสุดช่วงไตรมาส 2 และปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง ภายใต้สมมติฐานที่ว่าไม่มีการแพร่ระบาดซ้ำของไวรัส COVID-19 จนนำไปสู่มาตรการล็อกดาวน์ ครั้งที่ 2
ครัวเรือนไทยตระหนัก "เงินออม" สำคัญ
จากการสำรวจยังพบว่าครัวเรือนไทยส่วนใหญ่ตระหนักถึงความสำคัญของเงินออมและการสร้างรายได้หลายช่องทางมากขึ้น หลังเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 โดยแบ่งครัวเรือนไทยเป็น 3 กลุ่ม ตามการใช้สิทธิ์เยียวยาผลกระทบจาก COVID-19 ดังนี้ กลุ่มแรงงานนอกระบบที่ได้รับสิทธิ์เงินเยียวยาจากมาตรการ "เราไม่ทิ้งกัน" พบว่าหลังมาตรการสิ้นสุดลง ครัวเรือนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ 35.5% พยายามหางานรับจ้างชั่วคราวแบบเดิมทำไปก่อน
ขณะที่กลุ่มแรงงานในระบบที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และใช้สิทธิ์เงินชดเชยจากประกันสังคมกรณี COVID-19 พบว่าหลังสิ้นสุดการได้รับเงินชดเชยจากประกันสังคม แรงงานกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ 47.4% เลือกที่จะกระจายความเสี่ยงทางด้านรายได้ผ่านการมีอาชีพเสริม
ส่วนกลุ่มแรงงานที่ไม่ได้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์ "เราไม่ทิ้งกัน" และไม่ได้ใช้สิทธิ์เงินชดเชยกรณี COVID-19 จากประกันสังคม แรงงานกลุ่มนี้ตระหนักถึงความสำคัญของวินัยทางการเงินของตนเองมากขึ้น โดย 43.8% ของแรงงานกลุ่มนี้เริ่มเก็บออมมากขึ้นและระมัดระวังการใช้จ่ายในปัจจุบัน และอีก 28.4% มองหาอาชีพเสริมเพิ่มเติม เพื่อสร้างรายได้หลายช่องทาง
แนะภาครัฐ "สร้างงาน-ส่งเสริมการออม"
โดยสรุปแล้ว ผลการสำรวจชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานและการใช้จ่ายของครัวเรือนไทยในระยะข้างหน้า โดยวิถีปกติใหม่ (New normal) ที่สะท้อนจากผลการสำรวจชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ในการดูดซับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ซึ่งเข้ามาแทนที่ภาคเกษตรกรรม
ในขณะที่รูปแบบการใช้จ่ายของครัวเรือนกลับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ระมัดระวัง และเร่งสร้างวินัยทางการเงินของตนเองเพิ่มขึ้น จึงเป็นโจทย์เร่งด่วนสำหรับภาครัฐ ทั้งในเรื่องของการออกมาตรการเศรษฐกิจที่ช่วยสร้างงานและรองรับจำนวนผู้ว่างงานใหม่ หลังมาตรการเยียวยาสิ้นสุดลง และการออกมาตรการส่งเสริมการออมที่เอื้อต่อแรงงานหลายกลุ่ม