วันนี้ (10 พ.ค.2563) จากกรณีการโยกย้ายและตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่นรับเงินบริจาคจากบริษัทยา ที่กระทรวงสาธารณสุข ล่าสุด นายมนู สว่างแจ้ง นักวิชาการอิสระ เปิดเผยผลการสำรวจจากการเก็บข้อมูลจากการสอบถามตัวแทนบริษัทยาที่ไปประสานงานกับโรงพยาบาล พบว่า ในเดือน พ.ย.2562 โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 186 แห่ง ยังคงรับเงินจากบริษัทยา และส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลชุมชน
สำหรับบริษัทยาในประเทศไทย แบ่งออกได้ 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นบริษัทต่างประเทศ กลุ่มที่ 2 บริษัทยาในประเทศ และกลุ่มที่ 3 นำยาเข้ามาขาย ซึ่งกลุ่มที่ถูกอ้างว่า จ่ายเงินให้โรงพยาบาลเป็นกลุ่มที่ 3 เพราะนำยาเข้ามาแล้วก็ต้องแข่งขันประมูลให้ชนะ โดยผู้เก็บผลสำรวจ อ้างว่า จะมีบุคลากรโรงพยาบาลถามว่าจะจ่ายเงินร้อยละ 5 ของยอดจัดซื้อได้หรือไม่ พร้อมทั้งมีการตั้งเงื่อนไขว่าแม้จะประมูลได้ แต่ถ้าไม่จ่ายเงินบริจาคโรงพยาบาลก็จะไม่จ่ายค่ายาให้เช่นกัน
นายมนู ระบุว่า เงินเป็นช่องโหว่หนึ่งของการจ่ายเงินสวัสดิการ โดยมีการตั้งเงื่อนไขว่าหากไม่จ่ายเงินสวัสดิการก่อน ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทเล็กๆ อาจจะยอมจ่าย โดยในส่วนนี้เป็นช่องทางที่ต้องการให้ปลัด สธ.ผลักดันผ่านกรมบัญชีกลาง เพราะเมื่อมีระบบอยู่แล้ว และหากมีกฎออกมาว่าโรงพยาบาลจ่ายเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะลดรูรั่วและราคายาจะถูกลง
สำหรับการรับเงินบริจาคของโรงพยาบาลนั้น เกิดการเปลี่ยนแปลงหลังจากมติ ครม. เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2560 ระบุว่า ห้ามไม่ให้หน่วยงานที่ทำการจัดซื้อ หารายได้ ในลักษณะผลประโยชน์ต่างตอบแทนทุกประเภท จากบริษัทยา เข้ากองทุนสวัสดิการสถานพยาบาล มิเช่นนั้นจะมีความผิดฐานเรียกรับสินบน
จากนั้นกระทรวงสาธารณสุข มีหนังสือเวียนภายใน ลงวันที่ 20 เม.ย.2561 ระบุว่า การรับเงินบริจาคต้องเกิดจากความสมัครใจ, ไม่เกิดการแลกเปลี่ยน ผลประโยชน์ สร้างเงื่อนไขผูกพัน หรือข้อเรียกร้องแก่หน่วยบริการเกินความจำเป็นแต่การรับบริจาคก็ยังกลายเป็นประเด็นร้องเรียนต่อเนื่อง
ขณะที่นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการ ป.ป.ช. ระบุว่า การจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่งบประมาณไปไม่ถึง อาจต้องมีผู้สนับสนุนเข้ามา ซึ่งเป็นข้อจำกัดของโรงพยาบาลมาโดยตลอด หลักการนี้จึงมีการกำหนดเรื่องเปอร์เซ็นยาเข้ากองทุนมาโดยตลอด เพื่อนำไปใช้จ่ายในส่วนที่ไม่สามารถเบิกจ่ายจากงบประมาณได้ส่วนหนึ่ง ดังนั้น กระทรวงต้องไปดูว่ามีอะไรบ้างที่จำเป็นต้องสนับสนุนให้เพียงพอต่อระบบสาธารณสุขทั่วประเทศ
ทั้งนี้ การเปิดเผยสำรวจของกระทรวงฯ มาในช่วงเดียวกันกับกรณีเงินบริจาคที่ทำให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่นถูกย้าย และสอบวินัยร้ายแรง และย้ายผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระปกเปล้าจันทบุรีมารักษาการ ซึ่งเคยมีปัญหาการร้องเรียนจนทำให้บุคลากรโรงพยาบาลขอนแก่น เกิดความไม่พอใจ
ฝ่ายหนึ่งมองว่า เป็นความขัดแย้งภายใน โดยที่ยังขาดหลักฐานการกระทำผิดที่ชัดเจน เช่น เงินที่รับบริจาคมามีกี่บาท พยานที่สอบ มีความขัดแย้ง กับผู้ถูกร้อง เป็นธรรมหรือไม่ ทำไมไม่เรียกสอบคนภายในโรงพยาบาลบ้าง แต่ฝ่ายกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ชี้แจงโต้ว่า มีมูลควรกล่าวหา สอบทั้งที่เป็นพยานบุคคลและเอกสาร ไม่ใช่การกลั่นแกล้ง สองเรื่องมาประดังกัน ทั้งการรับสินบน และความขัดแย้งภายในองค์กร กำลังเดิมพันด้วยภาพลักษณ์กระทรวง