วันนี้ (11 มิ.ย.2563) เฟซบุ๊กเพจ แพทยสภา เชิญชวนใช้โปรแกรมตรวจสอบชื่อแพทย์ โดยสามารถเช็กชื่อ-นามสกุล แพทย์ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อตรวจสอบและป้องกันปัญหาหมอเถื่อน เพิ่มความมั่นใจในการรักษาพยาบาล
สำหรับโปรแกรมดังกล่าวจะแจ้งสถานภาพของแพทย์ หรือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม แจ้งปีที่จบการศึกษา และสถานะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านใด เพื่อให้ประชาชนสามารถตัดสินใจในการเข้ารับการรักษาพยาบาล ได้อย่างแม่นยำ ขณะที่ในรอบปีที่ผ่านมามีผู้เข้าใช้บริการประมาณ 2ล้านครั้ง ถือว่าเป็นการคุ้มครองประชาชนที่ได้ รับการนิยมอย่างยิ่ง
ในกรณีที่ค้นแล้วไม่พบชื่อเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ให้เช็กว่าเปลี่ยนชื่อนามสกุลหรือไม่ และต้องตรวจสอบคำสะกดให้ถูกต้อง ถ้าไม่พบ แสดงว่าไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพแพทย์ ในประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 เข้าข่ายหมอเถื่อน ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจสามารถโทรศัพท์สอบถามได้ตามหมายเลขที่ให้ไว้ในเว็บไซต์
นอกจากนี้ บุคคลทั่วไปที่จบปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิต แม้กฎหมายจะให้สามารถใช้คำนำหน้าว่า นายแพทย์หรือแพทย์หญิงได้ แต่จะตรวจรักษาผู้ป่วยได้ ต่อเมื่อได้รับใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากแพทยสภาเท่านั้น มิเช่นนั้นผิดกฎหมาย มีโทษปรับและจำคุก
ส่วนคลินิกหรือสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาต หากสนับสนุนให้แพทย์ซึ่งไม่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมรักษาผู้ป่วย จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล ซึ่งควบคุมโดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ในต่างจังหวัดจะขึ้นกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เป็นผู้ตรวจสอบและจับกุมได้ โดยร่วมกับพนักงานตำรวจ
กรณีคลินิกไม่ได้รับอนุญาตเข้าข่ายคลินิกเถื่อน สามารถแจ้งได้ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สายด่วน 1426
แพทย์ที่ใช้โซเชียลมีเดียพึ่งระวังการให้ข้อมูลกับประชาชนให้ถูกต้องตามหลักวิชาการแพทย์ด้วยครับ หากแตกต่างจากมาตรฐานปกติอาจได้รับจดหมายขอพยานหลักฐาน และผลงานวิชาการที่ยืนยัน เพิ่มตามคำกล่าวอ้างด้วย สรุปคือหากท่าน อยากรู้ว่าหมอที่เปิดคลินิกหรือรักษาท่านหรือให้คำปรึกษาทางออนไลน์ เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ได้รับอนุญาตจากแพทยสภาหรือไม่ สอบถามได้ที่ https://www.tmc.or.th/check_md/