วันนี้ (11 มิ.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แชทไลน์ของกลุ่มนายก อบต.ใน จ.ร้อยเอ็ด มีข้อความระบุถึงเนื้อหา มีใจความว่า หาก อบต.ใดสนใจจัดซื้อชุดผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ COVID-19 ตามคำแนะนำ จะมีเงินทอนให้ร้อยละ 30 หรือไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อข้อมูลนี้ถูกเผยแพร่กลางเดือน เม.ย. นายก อบต.ปาฝา ชี้แจง ทันทีว่าไม่ใช่คนเขียนเสนอขายชุดผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ แต่เชื่อว่าถูกตัดต่อภาพเพื่อกลั่นแกล้ง
หนึ่งสัปดาห์ต่อมา อ.จังหาร ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง สรุปผลว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะขณะนั้นยังไม่มีการจัดซื้อจัดจ้าง แต่ไทยพีบีเอสได้รับข้อมูลว่า เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. และ ป.ป.ช. ยังคงเดินหน้าสืบสวนประเด็นนี้
ป.ป.ช.ร้อยเอ็ด มีหนังสือด่วนขอความร่วมมือให้กำหนดมาตรการป้องกันการทุจริต เฝ้าระวังการจัดซื้อจัดจ้างของ อปท. และพฤติการณ์เรียกรับเงินทอน ถัดมาไม่ถึง 1 เดือน นักสืบสวน ป.ป.ท.เขต 4 และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ร้อยเอ็ด เข้าตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อของเทศบาลตำบลขวาว อ.เสลภูมิ
เครื่องฉีดพ่น ULV ยี่ห้อ VictaV-1800 จำนวน 2 เครื่องนี้จัดซื้อในราคาเครื่องละ 85,000 บาท ไทยพีบีเอสทดลองตรวจสอบราคาในเว็บไซต์ อยู่ที่ 9,350 บาทเท่านั้น ถูกกว่าราคาซื้อถึง 9 เท่า ขณะที่นายก อบต.ขวาว ชี้แจงทันทีว่าถูกกลั่นแกล้ง
ไทยพีบีเอส เดินทางไปที่ร้านป็อบอิเล็กทรอนิกส์ ผู้จำหน่ายเครื่องฉีดพ่น ULV เจ้าของร้านชี้แจงว่า จดทะเบียนพาณิชย์ถูกต้อง ทำธุรกิจขายอุปกรณ์ไฟฟ้า และเครื่องฉีดพ่นฆ่ายุงลายมานานหลายปี
ข้อมูลที่ได้จากการสอบสวนของ ป.ป.ท.เขต 4 พบว่า ซื้อขายในราคาเครื่องละ 85,000 บาทจริง อ้างว่าขายราคานี้เพราะดัดแปลงเครื่องพ่นให้มีคุณภาพ รับประกันให้ถึง 10 ปี แต่เจ้าหน้าที่พบพิรุธและเตรียมส่งสำนวนให้ ป.ป.ช.พิจารณาตั้งคณะกรรมการไต่สวน
อบต.รอบเมือง จ.ร้อยเอ็ด เป็นอีก 1 อปท.ที่ถูกตรวจสอบในช่วงปลายเดือน พ.ค. เมื่อพบความผิดปกติ โอนเงินค่าสินค้ากว่า 1 ล้านบาทเข้าบัญชีนายก อบต. แทนบัญชีของบริษัทคู่สัญญา เจ้าหน้าที่ส่วนการคลังชี้แจงว่า เป็นการจัดซื้อเร่งด่วน นายก อบต.สำรองจ่ายเงินส่วนตัวไปก่อน และเมื่อทำเอกสารแล้วเสร็จจึงโอนเงินคืนให้
หนังสือจากกรมบัญชีกลางว่าด้วยการจัดซื้อพัสดุป้องกัน COVID-19 ที่ส่งไปยังหน่วยราชการ ระบุชัดเจนว่า หากจำเป็นต้องจ่ายเงินค่าพัสดุล่วงหน้าให้แก่ผู้ขาย ก็ให้จ่ายได้
เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.เขต 4 ตั้งข้อสังเกตุว่าคำชี้แจงมีประเด็นที่น่าสงสัย และได้ขอหลักฐานที่นายก อบต.โอนเงินให้บริษัทคู่สัญญา แต่กลับอ้างว่าไม่มีเพราะจ่ายเงินสด ขณะที่การตรวจเอกสารเบิกจ่ายงบประมาณจัดซื้อ หรือฎีกา พบความผิดปกติ
การตรวจสอบการจัดซื้อพัสดุเพื่อป้องกันเชื้อ COVID-19 ของ อปท.ใน จ.ร้อยเอ็ด มีความชัดเจนว่าพบความผิดปกติทั้งการจัดซื้อที่แพงกว่าท้องตลาด
ป.ป.ช.เตรียมตั้งกรรมการไต่สวน พร้อมขยายประเด็นการสืบสวนสอบสวนว่าการจัดซื้อที่แพงเกินจริง มีสาเหตุมาจากส่วนต่างเรื่องผลประโยชน์ หรือมีเจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับเงินหรือผลประโยชน์จากตัวแทนจำหน่ายสินค้าหรือไม่ เนื่องจากการจัดซื้อในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้มีการปรับระเบียบจัดซื้อโดยวิธีเฉพาะเจาะจง อาจเปิดช่องโหว่เอื้อต่อการทุจริตได้ง่ายขึ้น