การเคลื่อนไหวเรียกร้องของคนวงการมวยเพื่อให้มีการปลดล็อกกลับมาแข่งขันโดยเร็ว หลังถูกสั่งห้ามจัดกิจกรรมตั้งแต่เกิดการระบาดของ COVID-19 จากสนามมวยลุมพินีในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เป้าหมายคืนอาชีพให้กับนักมวยและบุคลากรที่ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า แต่เมื่อมีการแข่งขัน ธุรกิจการพนันมวยก็พร้อมกลับมาด้วยเช่นกัน
ที่น่าเป็นห่วงสำหรับกีฬามวยไทยในสถาณการณ์ COVID-19 คือการรวมตัวเล่นพนันมวยตู้ แม้ยังไม่สามารถเข้าไปชมในสนามได้ แต่หากมีการรวมตัวดูการถ่ายทอดสดของเซียนมวยเพื่อเล่นพนันมวยตู้ ย่อมเกิดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อ ซึ่งบ่อนแต่ละที่ทำให้เกิดการรวมตัวของเซียนมวยได้หลายร้อยคน
อย่างไรก็ตามการล็อคดาวน์เกือบ 3 เดือน สร้างผลกระทบกับคนวงการมวยนับแสนคน นักมวยภูธรที่มีค่าตัวเริ่มต้นเพียงหลักร้อยไปจนถึงหลักพัน คือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ส่วนกลุ่มนักมวยขึ้นชื่อมีเวทีชกย่านกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีค่าตัวต่อไฟต์ในหลัก 10,000 - 90,000 บาท ก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน ขณะที่นักมวยค่าตัวเรือนแสนที่ปัจจุบันเมืองไทยมีอยู่ประมาณ 20 คน แต่ผลจากการไม่ได้ชกมานานก็ทำให้ได้รับความดือดร้อนเหมือนนักมวยคนอื่นๆ
COVID-19 ยังทำให้ค่ายมวยไทยที่มีอยู่นับพันค่ายสูญเสียรายได้ แต่เจ้าของยังต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในช่วงเกือบ 3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งค่ายมวยขนาดเล็กที่มีนักมวย 2-4 คน กลุ่มนี้ขาดรายได้จากส่วนแบ่งการพานักมวยขึ้นชกกว่า 100,000 บาทต่อเดือน ส่วนค่ายมวยขนาดกลางที่มีนักมวยในค่าย 10-20 คน ขาดรายได้อย่างน้อย 300,000 บาทต่อเดือน และค่ายมวยขนาดใหญ่ที่มีนักมวยไทย 20 คนขึ้นไปและมีนักมวยเงินแสน สูญเสียรายได้หลักล้านบาทต่อเดือน
ก่อนการระบาดของ COVID-19 โปรโมเตอร์ส่วนหนึ่งยอมรับว่า ประสบปัญหาขาดทุนจากการจัดมวยอยู่แล้ว แต่หลายคนนอกจากเป็นโปรโมเตอร์ยังเป็นเจ้าของค่ายมวย ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายหลายทาง
ขณะนี้บุคลากรวงการมวยยังไม่ได้รับเงินเยียวยาจากการกีฬาแห่งประเทศไทย แม้จะมีมาตรการที่กำหนดมาแล้ว เพราะมีขั้นตอนการตรวจสอบ โดยมียอดการลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาทั้งหมด 6,921 คน แบ่งเป็นนักมวย 4,229 คน ผู้ฝึกสอน 659 คน ผู้ตัดสิน 250 คน ค่ายมวยมีทั้งหมด 1,187 แห่ง หัวหน้าค่ายอีก 596 คน รวมเงินทั้งหมดเกือบ 80 ล้านบาท ซึ่งยังไม่สามารถดำเนินการเบิกจ่ายได้ เพราะอยู่ในขั้นตอนขออนุมัติเงินจากกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ
เงินเยียวยาคือช่องทางการบรรเทาผลกระทบเท่านั้น ขณะที่ความหวังในการกลับสู่อาชีพเพื่อเลี้ยงปากท้องตัวเองยังต้องรอให้ ศบค.ประกาศมาตรการผ่อนปรนระยะ 4 ให้เร็วที่สุด แต่คนวงการมวยจะต้องร่วมมือกำหนดมาตรฐานการจัดที่ทำให้ ศบค.เชื่อมั่นในความปลอดภัยโดยเร็วเช่นกัน
หลังจาก ศบค.ประกาศปลดล็อคให้จัดการแข่งขันในระบบปิดได้ แต่ที่สำคัญคือมาตรการในคู่มือการแข่งขันที่ชัดเจน โดยนักมวยต้องถูกกักตัว 14 วันก่อนขึ้นเวที และต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ยกเว้นเมื่อขึ้นชก ส่วนพี่เลี้ยงที่กำหนดให้สวมหน้ากากพร้อมถุงมือตลอดการแข่งขัน ต้องเปลี่ยนนวมหลังจบการชกในแต่ละคู่และทำความสะอาดเวทีทันที
ภายในสนามถูกกำหนดให้มีทีมงานทั้งนักมวย พี่เลี้ยง กรรมการ และเจ้าหน้าที่ถ่ายทอดสดทั้งหมดไม่เกิน 50 คน โดยสนามที่จัดการแข่งขันและถ่ายทอดสดได้ ยังไม่รวมพื้นที่ในกรุงเทพฯ ที่ถูกตีกรอบห้ามจัดจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย.2563 ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด ถึงแม้บางเวทีจะประกาศความพร้อมกลับมาเปิดสนามในวันที่ 20 มิ.ย.นี้ แต่สำหรับแนวทางปฏิบัติตามคู่มือทั้งหมดยังมีขั้นตอนการอนุมัติจาก ศบค.ที่ต้องลุ้นให้พิจารณาภายในสัปดาห์นี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง