ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อัปเดทงบฯ 4 แสนล้าน ยื่นแล้ว 3 หมื่นโครงการ 2.8 แสนล้าน

เศรษฐกิจ
16 มิ.ย. 63
21:24
2,786
Logo Thai PBS
อัปเดทงบฯ 4 แสนล้าน ยื่นแล้ว 3 หมื่นโครงการ 2.8 แสนล้าน
การยื่นโครงการเข้ามาของส่วนราชการเพื่อขอใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาท ดูจะเต็มไปด้วยความกังวลว่า จะโปร่งใสและคุ้มค่าหรือไม่ เมื่อมีโครงการจำนวนมากเน้นการก่อสร้างมากกว่าการพัฒนาคน หลายฝ่ายจับตาดูว่า คณะกรรมการกลั่นกรองจะพิจารณาแต่ละโครงการที่มีการเสนอมาอย่างไร

วันนี้ (17 มิ.ย.2563) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงานว่า เว็บไซต์ไทยมี http://nscr.nesdb.go.th/thaime เปิดให้ประชาชนเข้าดูรายละเอียดโครงการ ที่เสนอของบประมาณภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาท แต่นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลมองว่า ข้อมูลที่ใส่มานั้น ยังมีหลายจุดที่ต้องปรับปรุง ยากต่อการเข้าถึงและตรวจสอบ

นายชารินทร์ พลภาณุมาศ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล กล่าวว่า ข้อมูลชุดนี้มีวัตถุประสงค์ว่า เก็บเพื่ออยากจะเก็บ หมายความว่า ไม่ได้มองว่าเก็บมาแล้วเราจะเอาไปวิเคราะห์แบบไหน เก็บข้อมูลแล้วเราจะเอาไปทำอะไรต่อ

 

หลังจัดระเบียบข้อมูล นายชารินทร์พบว่า ข้อมูล ณ วันที่ 12 มิ.ย.2563 มีโครงการ เสนอมาประมาณ 33,000 โครงการ จำนวน 30,805 โครงการ มาจากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงอื่นๆ 2,897 โครงการ

แต่ถ้ามองในมุมของ “มูลค่า” กระทรวงมหาดไทยก็ยังมาเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วย สำนักนายกรัฐมนตรี และ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

นอกจากนี้ หากเจาะลึกมูลค่าต่อโครงการ มูลค่าต่อโครงการ ของกระทรวงการคลังและสำนักนายกรัฐมนตรี สูงกว่ากระทรวงอื่น เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ ต่างจากกระทรวงมหาดไทยที่เน้นโครงการขนาดเล็กจำนวนมาก ส่วนคำยอดนิยมในการเขียนชื่อโครงการ คือ “การก่อสร้าง” และ “ถนน”

นายชารินทร์กล่าวต่อว่า โปรเจคพวกนี้เป็นโปรเจคเล็กโปรเจคน้อย ที่ถูกเสนอมาด้วยองค์การบริหารส่วนตำบล ก็จะมีจำนวนมาก ก็จะมีชื่อโครงการมาก แต่ว่างบประมาณน้อย คือประมาณ 10 ล้านบาท

 

ด้าน น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ วิเคราะห์เพิ่มเติม จากฐานข้อมูลข้างต้นพบว่า โครงการที่เน้นเรื่อง "คน" กับ "เทคโนโลยี" มี 3,672 โครงการ มูลค่า 129,879,797,676 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าโครงการที่เน้นเรื่อง "ของ" เช่น โครงการสร้างถนน สร้างป้าย สร้างอาคารต่างๆ ซึ่งมี 19,149 โครงการ ของบประมาณรวมกัน 152,976,171,623 ล้านบาท

สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง หรือ กทบ. เป็นหนึ่งหน่วยงานที่เสนอโครงการ ผู้อำนวยการ กทบ. เปิดเผยว่า กองทุนหมู่บ้าน ซึ่งมีหมด 79,000 กองทุน เสนอของบไป 40,000 ล้านบาท แบ่งเป็น วงเงิน 10,000 ล้านบาทแรก ใช้จ้างนักศึกษา หรือผู้ที่เป็นลูกหลานของสมาชิกกองทุน สำรวจข้อมูลเบื้องต้นว่า สมาชิกกองทุนหมู่บ้านมีอาชีพอะไร ความเป็นอยู่และมีสภาพพื้นที่เป็นอย่างไร เพื่อดูว่า จะทำอย่างไร ให้กองทุนหมู่บ้านนั้นๆ มีการพัฒนาเพิ่มขึ้น

สำหรับกรอบเวลาในการจ้างนักศึกษา เบื้องต้นอยู่ที่ประมาณ 3 เดือน ซึ่งงบประมาณ 10,000 ล้านบาทดังกล่าว เป็นค่าแรงสำรวจข้อมูล ทั้งนักศึกษาหรือลูกหลานกองทุน 3 คนต่อหมู่บ้าน อัตราค่าจ้าง 14,000 บาทต่อคน ต่อเดือน เมื่อสำรวจข้อมูลครบเรียบร้อยแล้ว จึงจะกำหนดแผน พัฒนาชุมชนแต่ละหมู่บ้าน

 

นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ผอ.สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กล่าวว่า ผมอยากให้รู้ว่า อะไรที่เรียกว่าพัฒนาชุมชน ชุมชนคืออะไร ถ้าไม่รู้จักจริงบางทีเงินก็ใช้ไปไม่ตรงเป้า ปัญหาที่ตามมาคือเงินที่ลงไป ก็ไม่ถึงชุมชนทั้งหมด

ขณะที่ วงเงิน 30,000 ล้านบาทที่เหลือ จะใช้ในการจัดสรรเท่าๆ กันทั้ง 79,000 หมู่บ้าน เพื่อนำไปใช้พัฒนาตามความเหมาะสมของพื้นที่ โดยแต่ละหมู่บ้านควรได้รับโอกาสเท่ากัน ตาม 5 แผน คือ แผนการสร้างรายได้ แผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ แผนท่องเที่ยวชุมชน แผนการค้าออนไลน์ และแผนขนส่งชุมชน

ด้านนายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ระบุว่า ได้เสนอแผนการใช้เงิน ตาม พ.ร.ก. เงินกู้ 4 แสนล้านบาท แบ่งเป็น แผนท่องเที่ยวชุมชนยั่งยืน 800 ล้านบาท และ แผนฟื้นฟูท่องเที่ยวเร่งด่วน 400 ล้านบาท รวม 1,200 ล้านบาท เพราะต้องการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในระยะยาว และ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวคนไทย ที่น่าจะเพิ่มขึ้น หลังคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการเที่ยวปันสุข

 

ปัจจุบันชุมชนมีความโดดเด่นของเขาอยู่แล้ว แต่ว่าอาจจะมีสถานที่หรือสิ่งอำนวยความสะดวก ที่ยังไม่อยู่ในอัตลักษณ์ของเขา ในส่วนนี้เราก็จะเป็นโครงการซ่อมสร้าง ไปเสริมให้กับชุมชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับจังหวัดที่อยู่ในความดูแลพิเศษของ อพท. มี 6 จังหวัด ได้แก่ ตราด ชลบุรี สุโขทัย กำแพงเพชร เลย และน่าน ซึ่ง อพท. ได้ประสานกับโรงแรมต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนได้ประโยชน์จากโครงการด้วย

นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการ สศช. ในฐานะประธานอนุกรรมการกลั่นกรองแผนงานโครงการฯ เปิดเผยว่า โครงการเกี่ยวกับการสร้างถนน อยู่ในส่วนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ถ้าทำแล้ว ช่วยสร้างโอกาสอะไรในพื้นที่ หากเป็นการตอบสนองความต้องการประชาชน ในระยะยาว ก็ของบประมาณมาได้ แต่ถ้าจะขอมากระจายหมู่บ้านละ 500 เมตร แบบนี้อาจให้ไม่ได้ ส่วนโครงการสร้างถนนใหญ่ๆ คงอนุมัติไม่ได้อยู่แล้ว เพราะระยะเวลาเบิกจ่ายจะนานกว่าที่ พ.ร.ก.เงินกู้ กำหนดไว้

อย่างไรก็ตามคงต้องจับตากันต่อไปว่า เมื่อสิ้นสุดการยื่นขออนุมัติโครงการแล้ว จะมีการเสนอทั้งหมดกี่โครงการ มีโครงการอะไรที่จะมีความซ้ำซ้อนกันบ้าง มีโครงการอะไรที่ใช้งบประมาณสูง และควรอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบการใช้งบประมาณทั้งหมดด้วยว่า เกิดความคุ้มค่าสูงสุดอย่างที่มีการเสนอไว้หรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง