วันนี้ (26 มิ.ย.63) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลาง ครั้งที่ 50 ประจำปี 2563 เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 26 มิ.ย.ของทุกปี ณ ศูนย์บริหารสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมียาเสพติดให้โทษของกลางจากคลังเก็บรักษายาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เผาทำลายจำนวน 25,301 กิโลกรัมจาก 2,751 คดี มูลค่ากว่า 55,941 ล้านบาท ประกอบด้วย เมทแอมเฟตามีน/ แอมเฟตามีน (ยาบ้า) น้ำหนักกว่า 18,303 กิโลกรัม (ประมาณ 203 ล้านเม็ด) มูลค่าประมาณ 40,674 ล้านบาท เมทแอมเฟตามีน (ยาไอซ์) น้ำหนักกว่า 5,878 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 12,932 ล้านบาท เฮโรอีนน้ำหนักกว่า 541 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 2,301 ล้านบาท และยังมี MDMA/MDA/MDE (ยาอี/ยาเลิฟ) น้ำหนักประมาณ 0.026 กิโลกรัม (107 เม็ด) ฝิ่นน้ำหนักกว่า 9 กิโลกรัม โคคาอีนน้ำหนักกว่า 10 กิโลกรัม ยาเสพติดอื่นๆ น้ำหนักรวมกว่า 557 กิโลกรัม
นอกจากนี้ กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมเผาวัตถุออกฤทธิ์ของกลาง จำนวนกว่า 1,187 กิโลกรัมจาก 724 คดี กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1 จ.ปทุมธานี และกองพิสูจน์หลักฐานกลาง ร่วมเผาทำลาย ภาชนะ หีบห่อ บรรจุภัณฑ์ที่ผ่านการใช้งานยาเสพติดรวม 15 กล่อง
ของกลางทั้งหมดจะถูกเผาทำลายด้วยวิธีไพโรไลติก อินซิเนอะเรชัน (Pyrolytic Incineration) ที่มีอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 850 องศาเซลเซียส จะทำให้เกิดการสลายตัวของโมเลกุลกลายเป็นคาร์บอนในระยะเวลาอันรวดเร็ว ในปีนี้ได้กำหนดวันเผาทำลายยาเสพติดให้โทษ 3 วัน คือวันที่ 26 มิ.ย.2563 จำนวนกว่า 8,466 กิโลกรัม วันที่ 13 ก.ค.2563 จำนวนกว่า 8,275 กิโลกรัม และวันที่ 14 ก.ค.2563 จำนวนกว่า 8,558 กิโลกรัม สถิติการเผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลางตั้งแต่ปี 2520-2563 รวม 50 ครั้ง มีน้ำหนักรวมกว่า 170,545 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 273,331 ล้านบาท มากที่สุดได้แก่ เมทแอมเฟตามีน/ แอมเฟตามีน ฝิ่นและอื่นๆ เฮโรอีน และเอ็คซ์ตาซี่ ตามลำดับ
นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่หลักบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ป้องกันไม่ให้กลับมาเสพซ้ำ ซึ่งปีงบประมาณ 2563 ตั้งเป้านำผู้เสพผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัด 210,982 คน แบ่งเป็นระบบสมัครใจ 113,382 คน บังคับบำบัด 56,600 คน ต้องโทษ 26,000 คน และระบบคุมความประพฤติ 15,000 คน สำหรับผลการดำเนินงานตั้งแต่ 1 ต.ค.2562 - 15 มิ.ย.2563 นำผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัดฯ แล้ว 128,520 คน คิดเป็นร้อยละ 60.92 จากระบบสมัครใจ 48,479 คน ระบบบังคับบำบัด 66,253 คน และระบบต้องโทษ 13,788 คน