วันนี้ (1 ก.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุมสภาฯ และเปิดประชุมอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 วาระแรก
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลุกขึ้นอภิปรายสรุปว่า ด้วยสภาวะการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ อาจต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับสถานการณ์ทั่วโลก ที่ยังไม่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ได้จัดสรรงบประมาณตามแผน นโยบาย และกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกรัฐมนตรี ใช้เวลา 1 ชั่วโมง อภิปรายชี้แจงหลักการและเหตุผล ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2564 โดยกล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไม่แน่นอน และยอมรับเสี่ยงต่ำกว่าคาดการณ์หากสถานการณ์ทั่วโลก ยังไม่ดีขึ้น ซึ่งการจัดทำงบประมาณจะให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะแก้ไขปัญหาเยียวยาผลกระทบ COVID-19
จับตาใช้งบฯ ไม่สอดคล้อง COVID – หวั่นมีทุจริต
อย่างไรก็ตาม เมื่อประมวลความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก่อนหน้านี้ ทั้งพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน ต่างสะท้อนว่า การจัดทำงบประมาณยังไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตว่า อาจเกิดการทุจริต โดยชี้ถึงแผนโครงการที่เชื่อว่ามีการล็อกสเป็กการจัดซื้อครุภัณฑ์
นอกจากนี้พรรคก้าวไกล ระบุว่า การจัดทำงบเป็นการยกแผนและโครงการเดิมของบ ไม่ตอบโจทย์ปัญหาของประชาชน ซึ่งหัวหน้าพรรคเตรียมอภิปรายในสภาฯ ภายใต้หัวข้อ “วิสัยทัศน์ประเทศไทยหลัง COVID-19”
สำหรับการจัดสรรเวลาอภิปรายทั้งสิ้น 3 วัน หรือ 46 ชั่วโมง ฝ่ายรัฐบาลได้เวลาอภิปราย 22 ชั่วโมงครั้ง ส่วนรัฐบาลได้เวลา 22 ชั่วโมง ต่างกันเพียงครึ่งชั้่วโมง และการอภิปรายสองวันแรกจะจบช่วงหลังเที่ยงคืน
ส่วนวันสุดท้ายวันที่ 3 ก.ค. ที่ประชุมจะลงมติรับหลักการหรือไม่ ก่อนเวลาเที่ยงคืน พร้อมตั้งกรรมาธิการพิจารณาศึกษา 72 คนแบ่งสัดส่วนครม. 18 คน พรรครัฐบาล 30 คน และพรรคฝ่ายค้านอีก 24 คน พิจารณาศึกษาราว 70 วันก่อนจะเข้าสู่วาระ 2-3 ช่วงกลางเดือนกันยายน
ผู้นำฝ่านค้านชี้ “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ”
หลังจากนายกรัฐมนตรีพูดจบ เวลา 11.06 น. นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นอภิปรายสรุปว่า การอภิปรายงบฯ ต้องสอดคล้องกับช่วงเวลาสถานการณ์และปัญหาบ้านเมืองอยู่ในช่วง COVID-19 แต่จากการฟังนายกฯ ยังไม่เอ่ยถึงแนวทางแก้ไข ทั้งที่นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิ และรุนแรงกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง
ผู้นำพรรคฝ่ายค้านกล่าวว่า เรื่องท้าทายรัฐบาลคือ การรองรับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ แม้จะออก พ.ร.บ.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท แต่การฟื้นตัว-ป้องกันไม่ให้ธุรกิจในประเทศล้ม รักษาการจ้างงาน สวนทางกับความจริงที่ยังมีผลกระทบมาก ทั้งการเลิกจ้างงาน ตกงาน ลามถึงสถาบันการเงินและระบบธนาคาร
รัฐบาลไม่ได้จัดสรรงบปี 64 เพื่อตอบโจทย์แก้ปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังล่มสลาย แต่ใช้วิธีการจัดงบแบบเก่า ไม่ได้ปรับให้เข้ากับสภาวะเศรษฐกิจ แต่ยึดมั่นที่ต้องจัดสรรตามยุทธศาสตร์ชาติ มุ่งไปแค่ก่อสร้าง ขุดคูคลอง เหมือนกับที่เคยทำมาในปีก่อนๆ หากทำแบบนี้ไทยจะไม่หลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลาง
งบประมาณที่ตั้งแบบ "ตำน้ำพริกละลายน้ำ" เพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองและพวกพ้อง จากนโยบายของพรรคการเมือง เหมือนกับการรีดไถเงินภาษีประชาชนไปซื้อเสียงล่วงหน้า ไม่อยากเห็นโครงการแจกเงินเที่ยว เอาภาษีประชาชนเป็นเครื่องมือ
นายสมพงษ์กล่าวด้วยว่า จัดงบแบบหว่านไปทั่ว จะไม่สามารถทำให้ประเทศฟื้นฟูทางด้านเศรษฐกิจได้ หากคิดแบบเดิม ทำแบบเดิม ชาวบ้านก็จะจนเหมือนเดิม