ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

THE EXIT : สอบบรรจุครูค้างบัญชี ตอน 1

สังคม
1 ก.ค. 63
19:56
2,519
Logo Thai PBS
THE EXIT : สอบบรรจุครูค้างบัญชี ตอน 1
หลังว่างเว้นมากว่า 1 ปี มีความชัดเจนจาก สพฐ.แล้วว่า ปลายเดือน ส.ค.นี้ สนามสอบบรรจุเข้ารับราชการ ในตำแหน่งครูผู้ช่วยรอบใหม่จะเกิดขึ้น เพื่อทดแทนตำแหน่งว่าง ที่มีอยู่กว่า 20,000 อัตรา

สนามสอบนี้ ในแง่หนึ่งเป็นโอกาสเฟ้นหาคนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยลดความขาดแคลนของบุคลากรทางการศึกษา แต่ก็เป็นเหมือนระเบิดเวลาของผู้ที่ค้าง ในบัญชีรอบรรจุมาตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งกำลังจะหมดอายุลงในเดือน ก.ย.นี้

หนังสือติวเข้มความรู้และความถนัดทางวิชาชีพครูกองใหญ่เป็นส่วนหนึ่งในเนื้อหาที่ชายคนนี้อ่านทบทวน เพื่อเข้าสอบบรรจุข้าราชการ ในตำแหน่งครูผู้ช่วยตลอดช่วง 8 ปีที่ผ่านมา

 

ผลของความมุมานะทำให้เขาสอบทำคะแนนจนผ่านการคัดเลือกและขึ้นบัญชีรอเรียกบรรจุในลำดับต้น ๆ ถึง 5 ครั้ง จากทั้งหมด 8 ครั้ง ล่าสุดคือผลการสอบปี 2561 ที่ชื่อของเขาติดลำดับที่ 24 ในกลุ่มวิชาเทคโนโลยีทางการศึกษา กศจ.กรุงเทพมหานคร แต่ผ่านมาเกือบ 2 ปี มีผู้ถูกเรียกเพียง 3 คนเท่านั้น จากทั้งหมด 73 คนที่สอบผ่านในสาขานี้

หนทางมันไม่ได้มีแค่นี้ สอบติดว่ายากแล้ว เรียกบรรจุยากกว่า สิ่งนี้จะรู้อยู่ระหว่างหมู่ครูที่สอบกันในหลาย ๆ สนาม

เมื่อความหวังรอบรรจุราชการยังไม่เป็นผลการทำงานเป็น "ครูอัตราจ้าง" สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในโรงเรียนขนาดเล็กเป็นเพียงไม่กี่ทางเลือกที่ทำให้ชายวัย 35 ปี มีรายได้และยังเดินต่อในสายวิชาชีพที่รัก ให้ความรู้ที่เรียนมาไม่สูญเปล่า หากความต่างของศักดิ์และสิทธิ ระหว่างสถานะ "ลูกจ้าง" กับ "ข้าราชการ" รวมทั้งความมั่นคงในชีวิตที่สวนทางกับวัยที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ภูมิต้านทานความผิดหวังจากการ "สอบติดแต่ไม่ได้บรรจุ" ก็อาจถึงจุดอิ่มตัว

 

โอกาสบรรจุในสาขาวิชาที่ขาดแคลนและเป็นพื้นที่ที่มีความต้องการครูสูง ทำให้นายนพกร มุลเมืองแสน ผู้ที่ขึ้นบัญชีรอบรรจุครูผู้ช่วยปี 2561 เป็นอีกคนที่มั่นใจว่าผลสอบได้ในกลุ่มวิชาฟิสิกส์ ลำดับที่ 17 ของ กศจ.ปทุมธานี จะทำให้เขาได้บรรจุเป็นข้าราชการ จึงตัดสินใจจากบ้านเกิดที่สกลนคร มาเป็นลูกจ้างชั่วคราวที่กรุงเทพฯ ระหว่างรอเรียกบรรจุ บัญชีบรรจุครูผู้ช่วย ปี 2561 ที่จะหมดอายุลงในเดือน ก.ย.นี้ แต่ลำดับเรียกบรรจุไม่ขยับ ตามมาด้วยความกังวลและข้อสงสัยในกระบวนการเฟ้นหาครูแทนตำแหน่งว่างที่ทำให้สิทธิ์ของคนสอบได้ส่วนหนึ่งหล่นหาย

 

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ระบุว่า การบรรจุครูผู้ช่วยแต่ละปีมีหลักเกณฑ์ระบุสัดส่วนที่ชัดเจนและเป็นไปตามขั้นตอนปกติ โดยร้อยละ 25 จัดสรรบรรจุให้บุคคลในโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น อีกร้อยละ 25 สรรหาจากครูลูกจ้างในโรงเรียนสังกัด สพฐ. ที่ทำงานในโรงเรียนนั้นๆ อย่างน้อย 3 ปี และที่เหลือเป็นอำนาจของ กศจ.แต่ละจังหวัด ที่จะบริหารจัดการว่าจะเปิดสอบคัดเลือกดึงผู้ที่ขึ้นบัญชีรอเรียกบรรจุหรือมีวิธีบริหารจัดการอื่น ๆ เพื่อหาครูมาทดแทนตำแหน่งว่างหรือสาขาวิชาที่ขาดแคลน

 

เมื่อการสอบผ่านและมีชื่อในบัญชีรอบรรจุครูผู้ช่วยไม่ใช่แค่เครื่องยืนยันถึงความรู้ความสามารถที่ผู้สอบได้แต่ละคนพยายามและสั่งสมมา แต่ยังหมายถึงการได้ก้าวเดินในสายวิชาชีพที่รักพร้อม ๆ กับโอกาสก้าวหน้า และความมั่นคงในชีวิต

ย้อนกลับไปเมื่อเดือน ก.ค.2561 คนหนุ่มสาวนับแสนเดินหน้าเข้าสู่สนามสอบแข่งขันตำแหน่ง "ครูผู้ช่วย" ซึ่ง กศจ. แต่ละแห่ง เปิดสอบพร้อมกันทั่วประเทศ ใน 42 กลุ่มวิชา ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การเข้ารับบรรจุและแต่งตั้งเป็น "ข้าราชการ" สังกัด สพฐ.

 

ในปี 2561 เป็นปีที่มีการสอบครั้งล่าสุดมีผู้เข้าผู้สอบกว่า 172,000 คน สอบผ่านทั้งภาค ก. ข. และ ค. กว่า 58,000 คน ชื่อที่ขึ้นบัญชีลำดับแรก 5,000 คน ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการทันที ในเดือน ต.ค. อีก 20,000 คนทยอยได้รับการบรรจุ แทนตำแหน่งครูเกษียณที่ว่างอยู่ในปีเดียวกัน ที่เหลืออีกเกือบ 33,900 คน จะขึ้นบัญชีรอการเรียกบรรจุแทนตำแหน่งที่ว่างในแต่ละจังหวัด ภายในระยะเวลา 2 ปี แต่อีกเพียง 2 เดือนที่บัญชีบรรจุครูผู้ช่วย ปี 2561 จะหมดอายุลงมีผู้ได้รับการเรียกบรรจุเป็นข้าราชการแล้ว 39,510 คน หรือประมาณ ร้อยละ 67 ของผู้ที่สอบได้ทั้งหมด

 

อย่างที่ จ.ปทุมธานี ผู้ขึ้นบัญชีครูผู้ช่วยปี 2561 ทั้งหมด 2,144 คน แต่ช่วงปีกว่า ศึกษาธิการจังหวัด เรียกบรรจุมาแล้ว 5 ครั้งได้รับการบรรจุไปเพียง 922 คน ยังคงเหลืออีก 1,222 คนที่ยังรอความหวังที่ริบหรี่ลงเรื่อยๆตามเวลาที่เหลืออยู่ เช่นเดียวกับอีกหลาย ๆ พื้นที่ทั่วประเทศ ที่หลายสาขาขาดแคลนจำเป็นและชื่ออยู่ในลำดับต้น ๆ ยังไม่ขยับ

 

ไทยพีบีเอสพบประเด็นสำคัญที่ทำให้การเรียกบรรจุครูผู้ช่วยบัญชีเดิมที่ล่าช้า ส่วนหนึ่งเกิดจากระเบียบราชการที่เปิดให้เกิดการโยกย้ายเข้าแทนตำแหน่งว่างและการคงอัตราครูเกษียณให้สอนต่อ และสนามสอบครูผู้ช่วยรอบใหม่ที่จะเกิดขึ้นปลายเดือน ส.ค.นี้ เพื่อบรรจุทดแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่กว่า 21,000 อัตรา ท่ามกลางคำถามที่ค้างคา ของผู้ที่ชื่อยังค้างอยู่ในบัญชีรอบรรจุเดิมกว่า 19,000 คน ว่าเพราะเหตุใดสิทธิจากความรู้ความสามารถของพวกเขาจึงหมดความหมายไปพร้อมกับเวลา

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง