ชาวนาอยุธยา โวยมาตรการพักชำระหนี้จากภัยน้ำท่วมของแบงก์ออมสิน ไม่เป็นจริง ดอกเบี้ยยังบาน
สืบเนื่องจากในช่วงปลายปี 2553 ได้เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ในหลายท้องที่ของประเทศไทยรวมทั้งที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ธนาคารออมสินได้มีการประชาสัมพันธ์แถลงข่าวและส่งจดหมายมาถึงลูกหนี้แจ้งมาตรการบรรเทาผล กระทบของลูกค้าและประชาชนจากเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ให้พักชำระเงินต้น และดอกเบี้ย สำหรับลูกค้าสินเชื่อทุกประเภทเป็นเวลาครึ่งปี
ทั้งนี้ นางสาวบุษกร กองสงฆ์ พร้อมกับนายสุทธา หิมาลัย และนางสาว ปรีชาวรรณ กองสงฆ์ ผู้กู้ร่วมสินเชื่อเคหะของธนาคารออมสิน สาขาเจ้าเจ้าพรหม จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นผู้ประสบภัยน้ำท่วมได้เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้กับธนาคารออมสิน ด้วยการทำบันทึกแก้ไขเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญากู้เงินสินเชื่อเคหะ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2553 ตกลงกันที่จะผ่อนผันการพักชำระหนี้เงินต้นและหนี้ดอกเบี้ยเงินกู้ รวมเป็นเวลา 6 เดือน หรือ 6 งวด โดยนางสาวบุษกรและผู้กู้ร่วมเข้าใจว่า ธนาคารจะระงับการคิดดอกเบี้ยในช่วงเวลาดังกล่าว
จนกระทั่งครบกำหนดพักชำระหนี้ 6 เดือน ผู้บริโภคจึงได้นำเงินไปชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญาจำนวน 3,700 บาท ปรากฏว่า ถูกธนาคารคิดเป็นดอกเบี้ยทั้งหมด โดยไม่มีต้นเงินเลย เมื่อสอบถามกับพนักงานของธนาคารออมสิน สาขาเจ้าพรหม ก็ไม่สามารถอธิบายเหตุผลให้เข้าใจเป็นที่กระจ่างได้ว่า เมื่อตกลงทำสัญญาพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยกันแล้ว เหตุใดจึงมีการย้อนหลังเรียกเก็บดอกเบี้ยเป็นดอกเบี้ยค้างชำระทบเข้ามาอีก ทำให้ต้องรับภาระหนี้เพิ่มขึ้นไปอีก จึงเข้าร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ปัญหาดังกล่าว ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นผู้ประสานงานร่วมกับผู้ร้องเรียน แถลงเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2554 เวลา 10.00 น. โดยก่อนหน้า ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้สอบถามไปยังธนาคารออมสิน และได้รับหนังสือชี้แจงจากนายมนตรี นกอินทร์ ผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาเจ้าพรหม จังหวัดพระนครศรีอยุธยาว่า การผ่อนผันการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือนนั้น เป็นการหยุดเรื่องส่งชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเท่านั้น ส่วนเรื่องของการคิดดอกเบี้ยในขณะผ่อนผัน ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยสะสมไว้ รอลูกหนี้มาชำระหนี้เมื่อครบกำหนดสัญญาผ่อนผันการพักชำระหนี้
ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เห็นว่า การให้ข้อมูลโฆษณาประชาสัมพันธ์ของธนาคารออมสิน เป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน และทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน สับสน และก่อให้เกิดการตัดสินใจเลือกใช้บริการที่ผิดพลาดมีความเสียหายขึ้น นับเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคที่สำคัญ และ เชื่อว่า น่าจะมีผู้ประสบภัยน้ำท่วมอีกหลายรายที่หลงเชื่อเข้าร่วมโครงการนี้ของ ธนาคารออมสิน