ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

THE EXIT : ล็อกสเปกเงินหมอ "หมื่นล้าน"

สังคม
3 ก.ค. 63
19:46
3,323
Logo Thai PBS
THE EXIT : ล็อกสเปกเงินหมอ "หมื่นล้าน"
ภายหลัง ก.สาธารณสุขจัดสรรงบประมาณเงินกู้ 45,000 ล้านบาท ลงไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศน้อยกว่าที่คาดหวัง และยังถูกบังคับให้ซื้อครุภัณฑ์ได้เฉพาะที่กำหนดไว้ใน Shopping List หรือรายการครุภัณฑ์ที่กระทรวงกำหนดจึงทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถซื้อของได้ตรงตามความต้องการ

กลุ่มที่กระทบหนักคือ กลุ่มโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่ได้งบประมาณแห่งละ 300,000 บาท ไม่สามารถใช้งบประมาณพัฒนาตึกอาหาร เพื่อรับมือกับไวรัส COVID-19 แต่อาจจะได้งบประมาณไปซื้อของทั่วไป เช่น มอเตอร์ไซค์ แล็บท็อป รถกระบะ ฯลฯ ขณะที่ของบางอย่าง รพ.สต.มีอยู่แล้วแต่ที่สำคัญการบังคับให้ซื้อจาก Shopping List อาจเป็นการเปิดช่องให้มีการล็อกสเปกและนำไปสู่การทุจริต

ปลายเดือน พ.ค.โรงพยาบาลทั่วประเทศได้ใบสั่งจากกระทรวงสาธารสุขให้เร่งตั้งเรื่องของบประมาณจากเงินกู้วงเงินรวมกว่า 20,000 ล้านบาท โดยโรงพยาบาลแต่ละแห่งต้องเลือกซื้อของจากรายการครุภัณฑ์ หรือ Shopping List ที่กระทรวงกำหนดงบประมาณมากที่สุด คือกลุ่มโรงพยาบาลศูนย์ – โรงพยาบาลทั่วไป ที่งบประมาณสูงสุดจำนวน 50 - 80 ล้านบาท น้อยที่สุดคือ กลุ่มโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จำนวน 500,000 - 1,000,000 บาท งบประมาณก้อนนี้ล้วนเป็นความหวังของโรงพยาบาลที่จะใช้รับมือกับไวรัส COVID-19

 

1 สัปดาห์ผ่านไป กระทรวงสาธารณสุขกลับความหวังที่ตั้งไว้เมื่องบประมาณที่ขอไปถูกตีกลับ ! พร้อมคำสั่งให้ตั้งเรื่องใหม่ ภายใต้กรอบวงเงินที่เปลี่ยนไปจากยอดรวมกว่า 20,000 ล้านบาท เหลือเพียง 6,000 ล้านบาท ลดลงถึงร้อยละ 70 ของวงเงินที่ลดลงไปแต่โรงพยาบาลยังต้องซื้อของภายใต้ Shopping List เดิม ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งซื้อของได้ไม่กี่อย่างอย่าง กลุ่มรพ.สต.ที่เงินแห่งละไม่เกิน 300,000 บาท ที่หมดหวังจะได้งบประมาณพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่อาจซื้อได้เฉพาะอุปกรณ์การแพทย์ทั่วไปหรือไม่ก็รถมอเตอร์ไซค์ แล็ปท็อป ที่กำหนดไว้ใน Shopping List

 

นอกจากนี้ การจัดสรรงบประมาณแบบ "เบี้ยหัวแตก" ยังทำให้เกิดเสียงครหาในหมู่ "หมอ" ด้วยกันเอง ที่ครหาว่า รพ.สต.อาจนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ไม่ได้ของที่ใช้รับมือ COVID-19 เช่น โรงพยาบาลบางแห่งที่ไม่จำเป็นต้องใช้มอเตอร์ไซค์ หรือแล็ปท็อปและบางอย่างก็ไม่เกี่ยวกับการรับมือไวรัส COVID-19

ขณะที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต.บ้านเกล็ดลิ่น ที่ให้บริการประชาชนในเขตตำบลหนองแวง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด กว่า 3,000 คน ต้นเดือน มิ.ย.เจ้าหน้าที่ได้รับเอกสาร Shopping List ใช้อ้างอิงจัดทำแผนของบประมาณเพื่อใช้เงินกู้ที่กระทรวงสาธารณสุขได้รับการจัดสรรซึ่งโรงพยาบาลตั้งงบประมาณไปแล้วซึ่งวงเงินนี้มีเพียง 300,000 บาท

"ตอนแรกคาว่าจะมีการจัดสรรงบประมาณรพ.สต.ขนาดใหญ่ได้ 1 ล้านบาท ขนาดกลางได้ 7.5 แสนบาท ขนาดเล็กได้ 5.5 แสนบาท แต่ต่อมาเป็นการจัดสรรให้แห่งละ 3 แสนบาท" มนันยา วโรรส ผู้อำนวยการรพ.สต.บ้านเกล็ดลิ่น จ.ร้อยเอ็ด ระบุ

วงเงิน 300,000 บาท ไม่เพียงพอต่อการจัดซื้อครุภัณฑ์ โรงพยาบาลจึงเสี่ยงตั้งงบประมาณเกินวงเงินที่กำหนดโดย รพ.สต.หลายแห่ง ส่งรายการครุภัณฑ์เกิน 300,000 บาท

เช่น รพ.สต.บ้านเกล็ดลิ่น ตั้งเรื่องขอเงินซื้อถังออกซิเจน ราคาตาม Shopping List สูงกว่า 10,000 บาท ,เครื่องผลิตออกซิเจนขนาด 10 ลิตร ราคา 40,000 บาท ,เครื่องวัดความดันโลหิตแบบสอดแขนอัตโนมัติ ราคา 70,000 บาท ,และเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจชนิดอัตโนมัติ (AED)พร้อมตู้ตั้งพื้นจอแสดงผลและระบบ ราคา 70,000 บาทเครื่องมือเหล่านี้จะทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้รวดเร็วและลดการสัมผัสผู้ป่วย แต่สิ่งที่ รพ.สต.เห็นว่าจำเป็นและอยากได้มากที่สุด คือ รถกระบะซึ่งราคาสูงเกินวงเงินที่กำหนดตาม Shopping List อยู่ในราคา 940,000 บาทเกินกว่าวงเงินที่ล็อกไว้จำนวน 300,000 บาทแน่นอน

"การออกไปให้บริการวัคซีน ซึ่งเราต้องออกไปให้บริการผู้ป่วยติดเตียงซึ่งผู้ป่วยเดินทางมาไม่ได้ หากเราใช้รถจักรยานยนต์โดยหิ้วกระติกวัคซีนไป ดูสภาพแล้วการควบคุมความเย็นมันน่าจะไม่ได้เต็มที่เพราะจะถูกแสงแดดระหว่างเดินทาง" มนันยา วโรรส ผู้อำนวยการรพ.สต.บ้านเกล็ดลิ่น จ.ร้อยเอ็ด ระบุ

ผู้สื่อข่าวได้ข้อมูลจาก รพ.สต.หลายแห่งตรงกันว่าเป็นครั้งแรก ที่ รพ.สต.ถูกจำกัดให้เลือกครุภัณฑ์จาก Shopping List เท่านี้ ด้านหนึ่งอาจมีข้อดีที่การตั้งงบประมาณไม่อยู่นอกเหนือขอบข่ายความจำเป็น แต่ด้านหนึ่งก็กลายเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ รพ.สต.ได้ของไม่ตรงกับความต้องการ เพราะส่วนหนึ่งก็หวังจะใช้งบประมาณก้อนนี้ในการปรับปรุงอาคารและโครงสร้างให้ดีขึ้น แต่ที่น่ากังวลที่สุดคือการจัดงบประมาณรอบนี้ไม่ทราบว่าจะได้ครุภัณฑ์ตามที่หวังหรือไม่

 

นอกจากนี้ แหล่งข่าวเผยว่า สุดท้ายกระทรวงสาธารณสุขอาจจำเป็นต้องเคาะกรอบงบประมาณไว้ต่ำสุดเพื่อกันเงินส่วนหนึ่งไว้ใช้สำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินหากไวรัส COVID-19 หากกลับมาระบาดรอบ 2 ที่ชัดเจนแล้ว คือ กลุ่ม รพ.สต.ที่อาจต้องได้น้อยสุดไม่เกิน 300,000 บาทส่วนความหวังที่จะได้ใช้งบประมาณพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคงต้องหวังกับงบประมาณในอนาคต

"การที่มี Shopping List จำนวน 19 รายการไม่ได้ตอบโจทย์ในความต้องการของ รพ.สต.เท่าไหร่ เพราะมันจำเป็นที่จะต้องมีรายการมากกว่านั้น และรายการที่มีความจำเป็นไม่ควรที่จะล็อกไว้แค่ 1 รายการ" นายสมศักดิ์ จึงตระกูล ประธานชมรม ผอ.รพ.สต.กล่าว

คำถามสำคัญคือวิธีการที่กระทรวงสาธารณสุขใช้จัดสรรงบประมาณตั้งเป็นโควตาสัดส่วนของโรงพยาบาลแต่ละขนาดแล้วบังคับเลือกรายการครุภัณฑ์ตาม Shopping List วิธีนี้ถูกมองว่าเป็นการเร่งใช้งบประมาณและเสี่ยงทำให้โรงพยาบาลไม่ได้ของตรงตามความต้องการ

"ตอนนี้มันเหมือนกับว่า สมมติว่ามีเงินเข้ามา 20,000 ล้านบาท ก็อาจคิดว่า 20,000 ล้านบาทจะแบ่งกันอย่างไร และตอนนี้ 6,000 ล้านบาทจะแบ่งกันอย่างไร มันไม่ได้ใช้โจทย์เป็นตัวตั้ง มันเหมือนการแบ่งเงินกัน" นายวิโรจน์ ณ ระนองนักวิชาการทีดีอาร์ไอ

การกำหนดกรอบให้โรงพยาบาลต้องเลือกซื้อครุภัณฑ์ตามสเปกใน Shopping List ไม่ได้ถูกตั้งคำถามเฉพาะในแวดวงเสื้อกาวน์เท่านั้นแต่เรื่องนี้ยังเป็นคำถามคามใจฝ่ายบริหารในกระทรวงสาธารณสุขโดยเฉพาะ "ฝ่ายการเมือง"

แหล่งข่าวระบุว่า เวลานี้ฝ่ายการเมืองกำลังเตรียมรื้อใหญ่ โละกรรมการที่จัดทำ Shopping List ที่เป็นคนในฝ่ายบริหาร แล้วแต่งตั้งผู้ตรวจการเขตเป็นผู้พิจารณาจัดสรรงบประมาณและครุภัณฑ์แทนเพื่อให้โรงพยาบาลได้งบประมาณสอดคล้องกับความต้องการและป้องกันการทุจริตในส่วนกลาง

สัญญาณอันตรายของการใช้งบประมาณเงินกู้ในครั้งนี้ จึงเกิด "ช่องโหว่" ตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ใช่เพียงการแจกงบประมาณเป็น "เบี้ยหัวแตก" และสะท้อนให้เห็นถึงการเร่งใช้เงินแต่ยังเกิดช่องว่างให้มีการกำหนดสเปกที่ส่วนกลางจนอาจทำให้บุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ปลายทางได้ครุภัณฑ์ไม่ตรงความต้องการไม่เกี่ยวกับการรับมือกับไวรัส COVID-19 และร้ายแรงที่สุด อาจลามเป็นช่องทางการทุจริต

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง