วันนี้ (9 ก.ค.2563) เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เข้ายื่นหนังสือให้กับผู้แทนของผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย โดยมีผู้แทนขององค์การพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เข้าร่วมพูดคุย พร้อมรับหนังสือ
หนังสือดังกล่าวระบุว่า ตามที่รัฐบาลไทย โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 และวันที่ 21 มกราคม 2563 เห็นชอบหลักการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต โดยมอบหมายให้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ
ซึ่งโครงการนี้ ต้องการใช้พื้นที่ชายฝั่งทะเลของ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม อ.จะนะ จำนวน 16,753 ไร่ ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดของภาคใต้ โดยอ้างว่าจะจัดสรรพื้นที่รองรับอุตสาหกรรม 6 ประเภท คือ
1.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมเบา 4,253 ไร่
2.พื้นที่อุตสาหกรรมหนัก 4,000 ไร่
3.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า 4,000 ไร่ จำนวน 4 โรง กำลังผลิตรวม 3,700 เมกะวัตต์
4.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับกิจกรรมหลังท่าเรือ 2,000 ไร่
5.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมศูนย์รวมและกระจายสินค้า 2,000 ไร่
6.พื้นที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จและแหล่งที่พักอาศัย 500 ไร่
หนังสือดังกล่าวระบุต่อว่า ได้อนุมัติการใช้งบประมาณก้อนแรกจำนวน 18,680 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบสาธารณูปโภค และได้เชิญชวนประชาชนในพื้นที่สนับสนุนโครงการนี้ด้วยรูปแบบวิธีการต่างๆ โดยอ้างว่าประชาชนทุกคนจะได้ประโยชน์ และทางรัฐจะเปิดโอกาสให้ชาวบ้านสามารถขออะไรก็ได้ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับนิคมอุตสาหกรรมได้อย่างดีที่สุด
หากในข้อเท็จจริงแล้ว โครงการนี้จะสร้างปัญหาให้กับประชาชนในอนาคตในหลายมิติ อย่างเช่น
1.การเริ่มต้นโครงการนี้ กำลังสร้างความขัดแย้งอย่างหนักในพื้นที่ อันเกิดจากความคิดเห็นที่แตกต่างจากความไม่เข้าใจถึงข้อเท็จจริงของโครงการของประชาชน ซึ่งมีความกังวลว่าโครงการนี้จะสร้างความเจริญ หรือจะเข้ามาสร้างความเสียหายให้กับคนในพื้นที่มากกว่า และท้ายที่สุดแล้วคนที่ได้ประโยชน์แท้จริงคือกลุ่มทุน นักการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น
2.เจ้าหน้าที่รัฐได้สร้างความหวังเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยบอกว่าหากโครงการนี้เกิดขึ้นก็จะดำเนินการให้มีการอนุมัติกรรมสิทธิ์ที่ดินกับประชาชน ในกรณีรายที่ไม่มีกรรมสิทธิ์มาก่อน
จึงเสมือนเป็นการล่อลวงให้หลงเชื่อ เพื่อหวังจะใช้ชาวบ้านเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนโครงการ ในขณะเดียวกันกลุ่มทุนจะมีการจับจองเพื่อขอซื้อที่ดินเหล่านั้นของชาวบ้าน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของนิคมอุตสาหกรรม และยิ่งไปกว่านั้นวิธีการนี้คือการเอื้อประโยชน์นายทุนผู้ถือครองที่ดินแปลงใหญ่ที่ต้องการขายที่ดินให้กลุ่มทุน
3.ศอ.บต. และกลุ่มทุนที่ร่วมขับเคลื่อนโครงการ พยายามรวบรัดขั้นตอนกระบวนการดำเนินงาน โดยไม่สนใจระเบียบปฏิบัติทางกฎหมาย และไม่สนใจต่อสภาวะทางสังคม วัฒนธรรมของคนในพื้นที่ อันรวมถึงวิกฤติด้านสุขภาพในปัจจุบัน ดังเช่น ความพยายามที่จะจัดเวทีแก้ไขผังเมืองในช่วงการที่มีการถือศีลอดของพี่น้องมุสลิม และยังอยู่ในช่วยการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด 19 อย่างรุนแรง
4.โครงการนี้จะสร้างความเสียหายกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างมหาศาลในอนาคต และเชื่อว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนสภาพของชายหาดอย่างรุนแรง อันรวมถึงสภาพอากาศจากมลพิษโรงงานจำนวนมาก และน้ำเสียที่จะปล่อยลงสู่ทะเล ที่จะทำลายระบบนิเวศโดยรวมของสัตว์น้ำ แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำทะเล ทั่วทั้งจ.สงขลา และจังหวัดใกล้เคียง อันจะนำมาซึ่งความยากลำบากในการดำรงชีวิตปกติของประชาชนในชุมชนทั้ง 3 ตำบลของ อ.จะนะอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
5.ประชาชนในพื้นที่จะขาดความมั่นคงในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะด้านที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน อันเป็นผลพวงจากที่ดินจำนวนมาก ที่จะต้องเปลี่ยนสภาพเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม และที่ทำกินในทะเลอันเป็นพื้นที่ทำการประมงสำคัญของ จ.สงขลา ก็จะได้รับผลกระทบจากการมีท่าเรือขนาดใหญ่อีก 3 ท่า และเชื่อว่ากิจกรรมจากการเดินเรือขนส่งสินค้าจะส่งผลให้วิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านแห่งนี้ยากลำบากมากขึ้น และอาจจะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อีกต่อไป
6.มีการคุกคามผู้ที่ลุกขึ้นมาแสดงออก แสดงความเห็นคัดค้านโครงการฯ ไม่ว่า จะเป็นการส่งเจ้าหน้าที่ทหารหรือตำรวจไปถึงที่บ้าน เพื่อสอบถามว่าจะไปร่วมการรับฟังความเห็นในวันที่ 11 กรกฎาคมนี้หรือไม่ การจัดตั้งกลุ่มบุคคลไปถือป้ายเป็นขบวนขับไล่ ผอ.โรงพยาบาลจะนะเนื่องจากคัดค้านโครงการ และการสร้างเพจเฟซบุ๊กในลักษณะ IO คุกคามผู้คัดค้านโครงการ
7.ตลอดถึงการเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจากหลายจังหวัดในภาคใต้ เพื่อไปอารักขาการประชุมรับฟังความคิดเห็นวันที่ 11 ก.ค.นี้ ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นการสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนที่คัดค้านโครงการที่จะไปแสดงความเห็นในเวที
ทางเครือข่ายเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง และไม่ชอบตามหลักกระบวนการมีส่วนร่วมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และถือเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนอย่างรุนแรง จึงขอให้ท่านได้โปรดติดตามการกระทำของรัฐบาลไทยที่ได้ดำเนินการในโครงการนี้ดังนี้
1.ติดตามและให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยเกี่ยวกับการอนุมัติโครงการของคณะรัฐบาลไทยว่าได้ดำเนินการภายใต้แนวคิดของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) หลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และหลักสิทธิมนุษยชน
2.ติดตามตรวจสอบและทำความเห็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย ในกรณีที่มีละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และหลักการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตลอดทั้งการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนภายใต้สนธิสัญญา กติการะหว่างประเทศที่รัฐไทยได้ผูกพันไว้
3.ขอให้ติดตามและสังเกตการณ์ที่ ศอ.บต.จะจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา เพื่อติดตามสถานการณ์มิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตำรวจบุกพบแกนนำ-นักวิชาการ ขวางร่วมเวทีนิคมอุตฯ จะนะ
ตร.ภาค 9 สั่งเตรียมกำลัง รับมือเวทีพิจารณ์ “นิคมฯ จะนะ”