แผ่นไวนิลสีแดงขนาดใหญ่ ติดตั้งไว้บริเวณเขตรับผิดชอบป่าสงวนดงชี ตำบลสร้างถ่อ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ระบุข้อความ "พื้นที่ใช้สารเคมี" ข้อความนี้ สร้างความกังวลใจให้กับชาวบ้านรอบเขตป่าสงวนดงชีกว่า 17 หมู่บ้าน เพราะผืนป่าแห่งนี้ เคยเป็นป่าไม้เบญจพรรณ มีต้นยางนา พะยอม พยุง แต่ปัจจุบันถูกทำลายเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ หรือ ต้นยูคาลิปตัส ทำลายวิถีชีวิตของชาวบ้าน
ปัญหาที่ได้รับผลกระทบตอนนี้คือ เมื่อปลายปี 62 ถึงเดือน ก.พ. 63 มีการบุกเบิกป่า และมีการใช้สารเคมี เหตุที่ใช้สารเคมีเพราะว่าเขาอำนวยความสะดวกในการถอนรากถอนโคนต้นยูคาลิปตัสให้มันง่ายขึ้น
สวนป่าดงชีและสวนป่าหนองเหล่าหิน ในอดีตกรมป่าไม้จัดสรรพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม เพาะปลูกต้นไม้เศรษฐกิจ แยกบริหารจัดการพื้นที่เป็นปีแปลงปลูก เริ่มแปลงแรก พ.ศ.2526 - 2528 ต่อมา พ.ศ.2548 กรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เขตอุบลราชธานีรับผิดชอบพื้นที่ต่อ ประมาณ 2,000 ไร่ ตามมติคณะรัฐมนตรีให้จัดสรรพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม เพาะปลูกต้นไม้เศรษฐกิจ
นายธีรศักดิ์ เจริญศิลป์ ตัวแทนชาวบ้านเล่าว่าสวนป่าดงชีและสวนป่าหนองเหล่าหิน โซนที่ถูกอ้างว่าเป็นป่าเสื่อมโทรม อดีตชาวบ้านเรียกว่า "ป่าดงใหญ่" เนื่องจากเป็นป่าขนาดใหญ่ มีไม้เบญจพรรณขนาดใหญ่เติบโตหนาแน่น บนพื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่ บริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำหนองเหล่าหิน บ้านศรีบัว ตำบลสร้างถ่อ จังหวัดอุบลราชธานี
เราอยากให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ยกเลิกสัญญาออกจากผืนป่าแห่งนี้ เพราะถ้าจะอ้างว่าผืนป่านี้เป็นป่าเสื่อมโทรม และจะมาทำอุตสาหกรรมป่าไม้แบบนี้ ไม่ถูกต้อง เราไม่ได้บอกว่าองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ไม่ดี ดีครับ แต่อาจจะเหมาะกับผืนป่าที่อื่น ที่เสื่อมโทรมจริง ๆ แต่ไม่ใช่ ที่นี่เป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ แต่ตอนนี้มันหายไปหมดเลย
ไทยพีบีเอสสำรวจพื้นที่ตามคำกล่าวอ้างของชาวบ้านว่าผืนป่าแห่งนี้ไม่ใช่ป่าเสื่อมโทรม โดยทดลองให้ชาวบ้านโอบต้นยางนาใกล้กับแปลงที่ระบุว่าใช้สารเคมี จากการทดสอบพบว่าต้องใช้คนถึงสองคนโอบ สะท้อนให้เห็นได้ว่าผืนป่าแห่งนี้มีต้นไม้ใหญ่เติบโตอยู่รอบผืนป่า ซึ่งอาจไม่ใช่ป่าไม้เสื่อมโทรมตามที่เจ้าหน้าที่กล่าวอ้าง
ไทยพีบีเอสตรวจสอบสัญญาจ้างเหมาไถเตรียมพื้นที่ จำนวน 700 ไร่ ของอุตสาหกรรมป่าไม้เขตอุบลราชธานี ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบว่าปรากฏรายชื่อประชาชนคนหนึ่งเป็นผู้รับจ้าง ดำเนินการว่าจ้างให้ไถพรวนดินทั่วพื้นที่ ปรับเกลี่ยพื้นที่ให้อยู่ในสภาพสม่ำเสมอ กรอบระยะเวลา 30 วัน โดยว่าจ้างเป็นเงิน 420,000 บาท
จากการตรวจสอบระเบียบการทำสัญญาจ้างเหมา ไม่ได้อนุญาตให้ใช้สารเคมีเพื่อทำลายตอของต้นไม้ เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมป่าไม้เขตอุบลราชธานีงานสวนป่าดงชี ยอมรับว่าเป็นเรื่องข้อผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ ที่ให้บริษัทเอกชนดำเนินการใช้สารเคมี ซึ่งในเบื้องต้นได้สั่งระงับการดำเนินการในจุดที่มีปัญหาแล้ว พร้อมได้ติดตั้งแผ่นป้ายประกาศ ไม่ใช้ชาวบ้านเข้าไปเก็บเห็ด เพื่อป้องกันการถูกสารเคมี
ติดกับแปลงปลูกต้นยูคาลิปตัส ที่ชาวบ้านอ้างว่าเห็นการใช้สารเคมีทำลายไม้ เป็นแปลงปลูกมันสำปะหลังของนายสมพร บุญพักดี ซึ่งเขามีความกังวลใจว่าจะได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมี เพราะฤดูฝนน้ำจะหลากลงมาในแปลงมันสำปะหลัง ทำให้ผลผลิตการเกษตร ได้รับความเสียหาย
เวลาฝนตกน้ำจะไหลมา ทำให้ดินเราเสีย มันจะมีแต่ผลเสียถ้าใช้ยาแรงแบบนั้น มันจะลงแหล่งน้ำหนองเหล่าหินด้วย
นอกจากแปลงเกษตรของชาวบ้านที่เตรียมได้รับผลกระทบจากสารเคมีไหลปนเปื้อนมากับน้ำ อ่างเก็บน้ำหนองเหล่าหินที่จุน้ำมากกว่า 2 ล้านลูกบาศก์เมตร แหล่งน้ำหลักของชาวบ้านก็จะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน เพราะจากการบินสำรวจจุดที่อ้างว่าใช้สารเคมีไปถึงอ่างเก็บน้ำ อยู่ห่างกันไม่ถึง 2 กิโลเมตร ซึ่งผิดระเบียบการใช้สารเคมีใกล้แหล่งน้ำ
เพื่อให้เกิดความชัดเจนเรื่องการใช้สารเคมีทำลายตอต้นยูคาลิปตัส ในแปลงขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เขตอุบลราชธานีที่ว่าจ้างในบริษัทเอกชนดำเนินการจัดเตรียมดิน ไทยพีบีเอสประสานขอความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 เพื่อตรวจสอบ โดยสุ่มเก็บตัวอย่างบนเนื้อที่ทั้งหมด 10 ไร่ จุดที่ถูกกล่าวอ้างรวมทั้งหมด 10 จุด เช่นบริเวณชั้นใต้ดิน เปลือกไม้ รวมไปถึงจุดที่มีน้ำขัง ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในการสุ่มเก็บตัวอย่าง
น.ส.นาตยา จันทร์ส่องผู้อำนวยการ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า เราจะสุ่มเก็บตัวอย่างประมาณ 10 เปอร์เซ็นของพื้นที่ เพื่อให้ได้ตัวอย่างที่กระจายทั่วถึงสม่ำเสมอ และเพื่อให้ผลวิเคราะห์แม่นยำโดยนำจากทุกส่วนของแปลง
การสุ่มเราจะวางแผนว่าความเสี่ยงของสารเคมีที่ทางการเกษตรที่มีโอกาสไหลลงสู่แหล่งน้ำ เราจะเก็บตัวอย่างตามความลาดเทของพื้นที่ ตั้งแต่บนสุดไปถึงที่ราบใกล้แหล่งน้ำที่สุด
ปัจจุบันต้นยูคาลิปตัสถูกจัดเป็นต้นไม้เศรษฐกิจ เนื่องจากเจริญเติบโตได้รวดเร็วนำมาใช้ประโยชน์ในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะใช้เป็นเชื้อเพลิง หรือปลูกขายเพื่อนำไปทำเฟอร์นิเจอร์ ทำนั่งร้านสำหรับการก่อสร้างอาคาร และการทำไบโอดีเซล แต่ในระเบียบของกรมป่าไม้ พ.ศ. 2549 ระบุในหนังสือชัดเจนว่าให้ละเว้นการปลูกพันธุ์ไม้ชนิดนี้ เนื่องจากใบของต้นยูคาลิปตัสมีน้ำมัน เมื่อร่วงหล่นลงสู่พื้นดินจะทำให้คุณภาพดินและระบบนิเวศเสียหาย