วันนี้ (11 ก.ค.2563) เครือข่ายนักวิชาการและนักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน ออกแถลงการณ์กรณีการผลักดันโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ในพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
ตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ได้จัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นในโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 นี้ โดยการปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เห็นต่างและประชาชนในพื้นที่ ที่จะได้รับผลกระทบ แต่ไม่อยู่ในพื้นที่ 3 ตำบล (ต.สะกอม ต.ตลิ่งชัน ต.นาทับ) อ.จะนะจ.สงขลา และสร้างบรรยายกาศที่ไม่นำไปสู่การรับฟังอย่างปลอดภัย ด้วยการใช้กองกำลังจำนวนมากในการควบคุมการจัดเวที การปิดเส้นทางผ่านเวทีการประชุม การคุกคามประชาชนผู้เห็นต่างรวมทั้งนักวิชาการ
ทั้งหมดล้วนเป็นการแสดงออกถึงความไม่โปร่งใสและไม่ชอบธรรม ในการจัดทำโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ มิอาจสร้างความน่าเชื่อถือและความวางใจได้ว่าโครงการดังกล่าวที่จะนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน และรักษาปกป้องธรรมชาติสิ่งแวดล้อม
ทางเครือข่ายนักวิชาการและนักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน จึงขอแสดงจุดยืนดังแถลงการณ์เมื่อ 14 พฤษภาคม 2563
แถลงการณ์ เครือข่ายนักวิชาการและนักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน กรณีการผลักดันโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ในพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา 14 พฤษภาคม 2563
“ด้วยความเป็นห่วงต่อการผลักดันโครงการขนาดใหญ่ ในพื้นที่ชายหาดธรรมชาติทางทะเลและชุมชน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์มากแห่งหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งใหม่ระหว่างประชาชนและรัฐบาล อันเนื่องมาจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้เร่งผลักดันโครงการในช่วงเวลาที่สังคมกำลังประสบวิกฤติจากการระบาดของเชื้อโรค COVID-19 และอยู่ภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเสรีภาพในการชุมนุมและการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของประชาชนถูกจำกัด การเปิดรับฟังความคิดเห็นในช่วงเวลาเช่นนี้ จึงไม่อาจดำเนินการไปโดยเสรีตามเจตจำนงของประชาชนและชุมชนอย่างแท้จริง อีกทั้ง ยังเป็นการตัดโอกาสผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ ในการเข้าร่วมกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งหาก ศอ.บต. จะยังคงเดินหน้าผลักดันโครงการต่อไป ก็อาจทำให้โครงการขาดความชอบธรรม และสุ่มเสี่ยงที่จะสร้างปัญหาขึ้นใหม่ ซึ่งขัดแย้งกับภารกิจของ ศอ. บต. ที่มีหน้าที่ในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น จึงไม่ควรก่อให้เกิดความขัดแย้งโดยไม่จำเป็น
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบหลักการการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ให้เป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต และได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 เห็นชอบให้ศูนย์อํานวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นผู้กำกับและดำเนินการให้อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาเป็น “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ในลักษณะเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ โดยจะใช้เงินลงทุนจำนวน 18,680 ล้านบาท โครงการดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ถึง 16,700 ไร่ และมีผลกระทบในวงกว้างเกินกว่าระดับจังหวัด
การดำเนินโครงการจะส่งผลกระทบอย่างถาวรในวงกว้าง ครอบคลุมในทุกมิติ เช่น วิถีชีวิต รูปแบบการดำเนินชีวิต อาชีพ ประเพณีและวัฒนธรรม ระบบนิเวศน์ทางบกและทางทะเล อีกทั้งยังต้องมีการเปลี่ยนแปลงผังเมืองเดิม โดยการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจากพื้นที่เกษตรกรรมให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม และมีแผนการดำเนินการต่อเนื่องด้านโครงข่ายการขนส่ง การคมนาคม ด้านพลังงาน รวมทั้งมีการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้มีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่จากนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะก่อให้เกิดกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียงอย่างกว้างขวาง
เครือข่ายนักวิชาการและนักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน เห็นว่าโครงการดังกล่าวมีปัญหาในหลายประเด็น จึงขอแสดงข้อห่วงกังวลและไม่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการดังกล่าว ดังนี้
1. การดำเนินโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีความหมาย (Meaningful Public Participation) และละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ การเห็นชอบในหลักการการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบโดยคณะรัฐมนตรีขาดการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้มีส่วนได้เสียตั้งแต่ต้น รัฐบาลไม่เคยสอบถามประชาชนผู้มีส่วนได้เสียว่าต้องการให้ภูมิลำเนาถิ่นที่อยู่ของเขานั้นเป็น “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” หรือไม่ และแม้ภายหลังการเห็นชอบในหลักการแล้ว ศอ.บต. ซึ่งเป็นตัวแทนรัฐบาลในการรับผิดชอบการดำเนินการโครงการ จะได้มีจัดให้มีเวทีนําเสนอโครงการและรับฟังความคิดเห็นซึ่งได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว แต่ในเวทีดังกล่าวไม่มีการให้ข้อมูลอย่างรอบด้านทั้งก่อนและในเวทีรับฟังความคิดเห็น รวมถึงการปิดกั้นการมีสวนร่วมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบในต่างหมูบ้านแม้อยู่ในตำบลเดียวกัน
นอกจากนี้ ศอ.บต. ยังได้ออกประกาศเรื่อง “การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในช่วงวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2563” เพื่อการดำเนินโครงการ “การขับเคลื่อนโครงการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา” แม้ว่าในขณะนี้ ศอ.บต. จะได้เลื่อนการรับฟังความคิดเห็นออกไปอย่างไม่มีกำหนด แต่หากพิจารณารายละเอียดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้วจะพบว่าไม่ได้มีการให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างรอบด้าน หากแต่มีลักษณะเร่งรัดในการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมายในเชิงแบบพิธีเท่านั้น มีการจำกัดสิทธิของประชาชนที่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ในวงจำกัด ซึ่งไม่ครอบคลุมประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบตามความเป็นจริง อีกทั้ง ยังให้ข้อมูลที่ไม่มีรายละเอียดชัดเจนเพียงพอต่อการแสดงความคิดเห็น และการกำหนดให้ประชาชนต้องเป็นผู้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเป็นเงื่อนไขที่สร้างภาระเกินสมควร หากแม้จะมีการดำเนินการรับฟังความคิดเห็น ดังรายละเอียดที่ ศอ.บต. ได้กำหนดแล้วนั้น ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีความหมายแต่อย่างใด และยังเป็นการขัดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสิทธิชุมชนที่รัฐธรรมนูญได้รับรองเอาไว้ด้วย
2. ศอ.บต. กำลังสร้างความขัดแย้งใหม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้
ศอ.บต. มีภารกิจและหน้าในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ได้เร่งผลักดันโครงการนี้ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยกําลังประสบวิกฤติการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเสรีภาพหลายด้านของประชาชนถูกจำกัด ส่งผลต่อการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กล่าวคือ การที่รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคร้าย โดยมีมาตรการห้ามมีการรวมตัวกันของประชาชน ที่เรียกว่า “การเพิ่มระยะห่างทางสังคม” ในขณะที่โครงการฯ จะสร้างผลกระทบในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชนอย่างมาก แต่ประชาชนกลับไม่สามารถรวมตัวกันเพื่อประชุมสร้างความเข้าใจโครงการได้อย่างอิสระ และใช้สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในการทักท้วงและสอบถามข้อมูล รวมถึงการใช้สิทธิในฐานะชุมชน ไม่อาจรับฟังถึงผลดีผลเสีย และนําเสนอข้อคิดเห็นได้อย่างอิสระโดยปราศจากความกลัวต่อโรคร้ายและต่อการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งจะทำให้การดำเนินโครงการมีความรอบคอบมากขึ้น นอกจากนี้เครือข่ายนักวิชาการและนักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน มีความเห็นว่าการผลักดันโครงการนี้ให้ดำเนินต่อไปหมิ่นเหม่ต่อการทำลายสิทธิและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง ทำลายปิดกั้นผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างไม่ให้สามารถใช้สิทธิตามกฎหมาย และรัฐธรรมนูญในการเรียกร้องของประชาชนในนาม “เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น”
การดำเนินการในลักษณะนี้ ศอ.บต. สุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งใหม่ระหว่างประชาชนและหน่วยงานรัฐซึ่งเป็นการขัดแย้งกันเองในปรัชญา ภารกิจ และหน้าที่ ของหน่วยงาน ศอ.บต. ในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง
3. การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างโดยสันติเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ
ขณะนี้ได้มีประชาชนอำเภอจะนะแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับโครงการโดยยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เพื่อขอให้ยุติโครงการจัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในวันที่ 14 – 20 พฤษภาคม 2563 และทบทวนโครงการ “จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” โดย นางสาวไครียะห์ ระหมันยะ ได้ใช้การดื้อแพงอย่างสันติ ปักหลักนั่งรอคําตอบอยู่ที่หน้าศาลากลางจังหวัดสงขลา เครือข่ายนักวิชาการและนักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน มีความคิดเห็นว่าการดื้อแพ่งอย่างสันติโดย นางสาวไครียะห์ ระหมันยะ เป็นการแสดงออกถึงความกล้าหาญของสตรีมุสลิมจะนะที่ห่วงใยชุมชน ธรรมชาติและมีความวิตกกังวลจากการเร่งรัดดำเนินการในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่ควรใช้อำนาจตามอำเภอใจในการจำกัดการใช้สิทธิดังกล่าว รวมถึงต้องให้ความคุ้มครองจากการคุกคามนอกกฎหมายรูปแบบอื่น ๆ
อนึ่ง ถึงแม้ว่าล่าสุด ศอ.บต. จะได้ประกาศเลื่อนการรับฟังความคิดเห็นในการดำเนินโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตออกไปอย่างไม่มีกำหนด แต่การประกาศเลื่อนดังกล่าวนั้นก็สะท้อนให้เห็นว่า ศอ.บต.มิได้พิจารณาโดยรอบคอบอย่างเพียงพอในการเตรียมการเพื่อให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนขึ้น และหากมองในอีกด้านหนึ่งการประกาศเลื่อนการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวถือเป็นผลสำเร็จของการต่อสู้โดยการดื้อแพ่งอย่างสันติของประชาชนในนามของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น โดยการสนับสนุนจากภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม อย่างไรก็ดี ตราบใดที่โครงการนี้ยังไม่ถูกทบทวนอย่างรอบคอบโดยประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ความกังวลของประชาชนและชุมชนก็ยังคงไม่อาจถูกปลดเปลื้องออกไปได้ อาศัยข้อห่วงกังวลและเหตุผลดังกล่าวมาข้างต้น
เครือข่ายนักวิชาการและนักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลและ ศอ.บต. ดังนี้
1. ให้ทบทวนโครงการ “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตเป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ” โดยประชาชนมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายตั้งแต่ต้น ทั้งนี้ โดยไม่กำหนดการตัดสินใจว่าจะดำเนินหรือไม่ดำเนินโครงการเอาไว้ล่วงหน้า
2. ในการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่จะมีขึ้นในอนาคต ขอให้คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสิทธิชุมชนที่ได้รับการรับรองเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยประชาชนจะต้องสามารถเข้ามีส่วนร่วมได้อย่างมีความหมาย
3. ไม่ใช้มาตรการทางกฎหมาย หรือการคุกคามใดที่เป็นการขัดขวางหรือกีดกันการใช้สิทธิแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างโดยสันติ ดังเช่นกรณีนางสาวไครียะห์ ระหมันยะ และกรณีอื่น ๆ ที่อาจมีขึ้นต่อไป