เมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา นายภัทรพร โพธิ์สุวรรณ์ นายกสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (Thailand Tech Startup Association) ได้ยื่น "ข้อเสนอนโยบายการสนับสนุนการต่อกรกับแพลตฟอร์มต่างชาติ และส่งเสริมสตาร์ตอัปไทย" แก่นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการประกอบธุรกิจออนไลน์และการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์
โดยสมาคมดังกล่าวระบุว่า แพลตฟอร์มต่างชาติ 3 ประเภทที่กำลังจะส่งผลกระทบต่อสตาร์ตอัปไทย ประกอบด้วย
1. Super App เช่น Grab, Gojek, LINE เป็นต้น โดยสมาคมมองว่า เมื่อธุรกิจการให้บริการเหล่านี้มีข้อมูลมากเพียงพอ ก็จะสามารถยึดครองตลาดบริการต่าง ๆ แทนธุรกิจท้องถิ่นได้ ในขณะเดียวกันบริการเหล่านี้จะมีข้อมูลมากพอที่จะเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคจนสามารถนำเสนอสินค้าด้านการเงินโดยตรงได้ด้วยตัวเอง
2. Online Travel Agents หรือตัวแทนขายแพ็กเกจท่องเที่ยว-โรงแรม เช่น Agoda, Expedia, Booking หรือ TripAdvisor เป็นต้น โดยธุรกิจเหล่านี้เก็บค่าคอมมิชชันในฐานะ "ตัวกลาง" ได้สูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ในธุรกิจท่องเที่ยว-โรงแรมของแต่ละแห่ง
3. E-Commerce Platform หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่นำเงินลงทุนทุ่มตลาดแบบไม่กลัวการขาดทุน ลดราคาสินค้าเพื่อให้คนเข้ามาใช้บริการที่เว็บไซต์และแอปพลิเคชัน เป้าหมายคือเพื่อให้ธุรกิจสามารถเข้ายึดครองตลาดได้
ส่วนข้อเสนอในการปกป้องธุรกิจไทยและสตาร์ตอัปไทยเพื่อต่อกรกับแพลตฟอร์มต่างชาติ จากสมาคมสตาร์ตอัป มีดังนี้
1. ทำให้สินค้าจากธุรกิจจีน มาใช้มาตรฐานเดียวกันกับสินค้าจากภาคธุรกิจไทย พร้อมขอให้ใช้มาตรการจูงใจทางภาษี (Tax Incentive) กับธุรกิจจีน เท่าเทียมกับธุรกิจไทยด้วย
2. E-Marketplace ควรมีสัดส่วนในการขายของต่างประเทศและในประเทศอย่างชัดเจน โดยยกตัวอย่างว่าในประเทศจีนก็กฎแบบนี้เพื่อรักษาตลาดของผู้ค้าขายในประเทศเช่นกัน บางสินค้าอาจกําหนดให้เฉพาะของคนในประเทศที่สามารถขายเท่านั้น เพื่อปกป้องไม่ให้เงินทุนของต่างชาติมาทําตลาดการขายในประเทศเสียสมดุล
3. ขอให้มีนโยบายสนับสนุนให้สินค้าในประเทศให้สามารถไปขายที่ประเทศอื่นได้มากขึ้น เพราะหากสินค้าจีนเข้ามานําเสนอสินค้าที่คนไทยสนใจ สินค้าไทยหลายอย่างก็เป็นที่สนใจจากต่างประเทศเช่นกัน หากผู้ค้าขายคนไทยมีช่องทางที่ชัดเจนในการขายของไปที่ต่างประเทศได้ และมีรัฐบาลสนับสนุน สินค้าไทยจะสามารรถต่อกรกับผลกระทบจากต่างชาติได้
4. รัฐบาลควรสร้างกฏหมายป้องการการผูกขาดทางธุรกิจ (Anti Trust Law) ซึ่งเป็นการสนับสนุนการแข่งขันและป้องกันไม่ให้เกิดผู้นําตลาดแต่เพียงผู้เดียว (Monopoly) ที่อาจจะสามารถกําหนดราคาตลาดได้ตามต้องการ
5. นโยบายการสนับสนุนการใช้บริการธุรกิจและสตาร์ตอัปไทย เช่น การลดภาษี VAT สำหรับการซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการดิจิทัลของไทย รัฐบาลสามารถนำภาษีที่เก็บจากแพลตฟอร์มต่างประเทศ มาช่วยสตาร์ตอัปและธุรกิจไทยด้วยมาตรการจูงใจทางภาษี สำหรับผู้ซื้อและผู้ขาย
สมาคมฯ ยังเสนอแนะว่าควรมีนโยบายกระตุ้นการใช้บริการสตาร์ตอัปภายในไทย เช่น แต่ละกระทรวงควรสนับสนุนสตาร์ตอัปภายในประเทศ อย่างน้อย 1 บริษัท, รัฐสนับสนุนเงินทุนบางส่วนให้แก่สตาร์ตอัป, ประสาน-ผลักดันให้เกิดดีลทางธุรกิจระหว่างสตาร์ตอัปกับภาคธุรกิจ เป็นต้น
นอกจากนี้ สมาคมฯ ขอให้มีนโยบายที่เพิ่มข้อได้เปรียบในการทำการค้าสำหรับสตาร์ตอัปไทย ได้แก่ กฎหมายเรียกเก็บภาษีจากบริการต่างประเทศ และลดภาษีของบริการสตาร์ตอัปไทย รวมถึงยังขอให้มีนโยบายปลดล็อกทางกฎหมายเพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจการสตาร์ตอัปต่อไป
--------------------------
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ ThaiPBS
ติดตาม #ThaiPBSSciAndTech ได้ที่
Facebook: Thai PBS Sci & Tech
Twitter: @ThaiPBSSciTech