วันนี้ (21 ก.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ทองปลอมระบาดมากขึ้น ซึ่งมิจฉาชีพ รวมทั้งร้านค้าออนไลน์บางแห่งฉวยโอกาสหลอกขายทองคำปลอมในรูปแบบต่างๆ เช่น ทองเกรด A ทองยัดไส้ ส่งกระทบกับร้านค้าที่รับซื้อทองคำ โรงรับจำนำ รวมถึงทำให้ผู้บริโภคเกิดความหวั่นวิตกในการเลือกซื้อทองคำ
ขณะที่ร้านขายทองคำขนาดใหญ่นิยมใช้เครื่อง X-Ray ในการตรวจสอบเปอร์เซ็นต์ของทองคำว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งสามารถเช็กความหนาได้สูงสุดไม่เกิน 10 ไมคอน
ตั้งแต่ต้นปี 2563 ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 20 หรือประมาณ 6,000 บาทต่อบาททองคำ ล่าสุดเมื่อวานนี้ (20 ก.ค.) ราคาทองคำทำสถิติสูงสุดในรอบ 8 ปี โดยทองรูปพรรณอยู่ที่ 27,200 บาทต่อบาททองคำ จากที่เคยสูงสุด 27,100 บาทต่อบาททองคำ ซึ่งราคาที่สูงขึ้นทำให้มีการฉวยโอกาสหลอกขายทองคำปลอม ทั้งทองคำแท่งและทองรูปพรรณ
นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ ประเมินความเสียหายปีละ 2,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่ความเสียหายไปอยู่ที่โรงรับจำนำขนาดเล็กและร้านทองที่ไม่มีเครื่องมือตรวจสอบ โดยสมาคมค้าทองคำจะเร่งให้ความรู้กับร้านค้าทอง โรงรับจำนำ และขอให้ผู้บริโภคซื้อทองคำจากร้านที่ได้มาตรฐาน ส่วนการซื้อออนไลน์ต้องตรวจสอบก่อนซื้อ และให้ตั้งข้อสังเกต หากมีการลดราคาทองมากเกินราคาจริง ขอให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นกลุ่มมิจฉาชีพ
กลุ่มมิจฉาชีพจะหาช่างฝีมือดีมาทำทองปลอม มีเป้าหมายเพื่อหลอกโรงรับจำนำ หรือร้านทองที่รับจำนำ
ขณะที่นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ หรือ GIT กล่าวว่า สถาบันฯ ได้รับการร้องเรียนการระบาดของทองปลอมมีจำนวนกว่า 10 ราย ส่วนใหญ่เป็นทองคำแท่ง โดยสถาบันฯ สามารถตรวจสอบทองคำที่มีความหนาเกิน 10 ไมคอนได้จากคลื่นอัลตราโซนิค ซึ่งจะทำให้จะรู้ถึงความผิดปกติของทองแท่ง ทั้งนี้ ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะซื้อทองคำแท่งเป็นการซื้อเก็บ อาจทำให้ไม่ได้ตรวจสอบ จึงเกิดเป็นช่องโหว่ให้เกิดการฉ้อโกงได้