จัดระเบียบหอศิลป์สู่แหล่งเรียนรู้
ภาพประวัติศาสตร์ก่อนการเกิดแหล่งเรียนรู้ทางศิลปะกลางกรุงอย่างหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ถูกนำมาฉายเพื่อย้ำความทรงจำให้เห็นถึงความพยายามของกลุ่มผู้รักงานศิลป์เมื่อปี 2544 ที่ร่วมเรียกร้องให้จัดการพื้นที่บริเวณสี่แยกปทุมวัน ให้เปลี่ยนจากศูนย์การค้ามาเป็นศูนย์กลางทางศิลปะ โดยอยู่ภายใต้การดูแลของกรุงเทพมหานคร 3 ปีกว่าที่กลไกการบริหารขาดความคล่องตัว นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภายใต้การดูแลของหน่วยงานราชการสู่องค์กรอิสระ
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครใช้พื้นที่อาคาร 9 ชั้นทำกิจกรรมด้านศิลปะในรูปแบบนิทรรศการหมุนเวียน ทั้งดนตรี กวี ภาพวาด วรรณกรรม และการจัดฉายภาพยนตร์ จากวันแรกที่มีผู้เข้าชมหอศิลป์ไม่ถึง 10 คน จนปัจจุบันมียอดผู้เข้าชมกว่า 3,000 คนต่อวันแล้ว
แต่เมื่อเทียบกับหอศิลป์ของต่างประเทศยังพบสัดส่วนที่แตกต่าง โดย The National Art Center กรุงโตเกียวที่เปิดเมื่อปี 2550 มีผู้เข้าชมวันละ 5,600 คน ขณะที่หอศิลป์แห่งชาติลอนดอน มีผู้เข้าชมกว่า 13,000 คนต่อวัน การบริหารจัดการพื้นที่บางส่วน รวมถึงวิธีการนำเสนอผลงานศิลปะ อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หอศิลป์กรุงเทพฯ แสดงศักยภาพได้ไม่เต็มที่
จากการสำรวจของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2554 พบว่าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเป็น 1 ใน 19 สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวต่างชาติที่มาเยือนกรุงเทพฯ หากหอศิลป์ยังคงถูกพูดถึงน้อยกว่าแหล่งการค้าในย่านเดียวกัน ทิศทางการบริหารหอศิลป์ในปัจจุบัน จึงอาจเป็นการปักหมุดฐานะของแหล่งเรียนรู้แห่งนี้ในอนาคต