วันนี้ (26 ก.ค.2563) นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์ และผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่ป่าใน จ.น่าน ลดลงไปมาก ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านปริมาณน้ำ ที่ไม่สามารถอุ้มน้ำได้ ขณะที่พื้นที่ภูเขาส่วนใหญ่ในปัจจุบันเป็นภูเขาหัวโล้นที่เกิดปัญหาดินโคลนถล่มตามมา ในช่วงที่เกิดฝนตกหนัก
ลุ่มน้ำน่านเป็นน้ำที่ไหลลงไปรวมเป็นแม่น้ำเจ้าพระยามากที่สุด ประมาณ 47 % ถ้าเทียบกับ แม่น้ำปิง วัง สำหรับลุ่มน้ำน่าน ส่วนใหญ่ จะนำตะกอนดินน้ำไหลไปรวมกันที่ลำน้ำต่างๆ แล้วไปยังเขื่อนสิริกิติ์ และแม่น้ำเจ้าพระยา
ขณะเดียวกัน ปัญหาดินโคลนถล่มของประเทศไทย โดยภาพรวมยังพบชุมชนที่เสี่ยงเกิดดินถล่มถึง ถึง 5,000 หมู่บ้าน ที่ยังไม่มีนโยบายจัดการแก้ปัญหาจริงจัง ส่วนพื้นที่การเกษตรของไทย ที่มีทั้งประเทศ 150 ล้านไร่ พบว่า มีพื้นที่ 108 ล้านไร่ หลายจุดเสี่ยงปัญหาดินโคลนถล่ม ดังนั้นการให้ประชาชนชุมชนรู้จักรัก หวงแหน และปลูกป่า จะช่วยลดปัญหาภัยพิบัติดินโคลนถล่มลงได้ส่วนหนึ่ง และภาครัฐต้องเข้ามาร่วมจัดการด้วย
ด้าน น.ส.กุล ปัญญาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์กสิกรรมธรรมชาติชุมชนต้นน้ำน่าน (ชตน.) อ.ท่าวังผา จ.น่าน กล่าวว่า ปัจจุบันการทำเกษตรผสมผสาน ด้วยการปลูกป่า 3 อย่าง เพื่อประโยชน์ 4 สามารถ เพิ่มพื้นที่ป่าขึ้นมาได้ แต่มีข้อเสนอสร้างต้นแบบประชาชนที่เป็นพลังชุมชนก็ได้ประโยชน์ เช่นการจัดทำต้นแบบโคกหนองนาดอยภูคา อ.ปัว จ.น่าน ซึ่งคาดว่า น่าจะสามารถเป็นตัวอย่างการทำเกษตรพอเพียง ตามศาสตร์พระราชา ที่จะได้ทั้งป่าและประชาชนไม่ขาดแคลนอาหาร
ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ประกอบกับฝนทิ้งช่วงรุนแรงทำให้ข้าวในนายืนต้นตาย จ.น่าน ก็ได้รับผลกระทบเช่นกันที่สำคัญ ยังมีภูเขาหัวโล้นและป่าต้นน้ำถูกทำลายในจ.น่าน
จากพื้นที่ทั้งหมด 7,601,880.49 ไร่ น่านเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่เป็นภูเขาถึงร้อยละ 87.2 ซึ่งในภูเขาเหล่านั้นประกอบไปด้วยผืนป่าต้นน้ำ ที่มีความสำคัญต่อการไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งส่วนใหญ่ทำการเกษตรเชิงเดี่ยว การทำกสิกรรมธรรมชาติแบบโคกหนองนาโมเดล คือการจัดการออกแบบพื้นที่กักเก็บน้ำตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ