จากกรณีวัดหมื่นล้าน อ.เมืองเชียงใหม่ ทำการบูรณะบานประตูโบราณ อายุประมาณ 100 ปี ด้วยการทาสีชาดและลงรักบานประตูวิหารปิดทับลายรดน้ำเดิม ที่สร้างขึ้นในราว พ.ศ.2460 จนถูกวิพากษ์วิจารณ์บนสื่อสังคมออนไลน์
วันนี้ (29 ก.ค.2563) นายวัลลภ นามวงศ์พรหม รองประธานสภาวัฒนธรรมเชียงใหม่ ระบุว่า รู้สึกไม่สบายใจอย่างยิ่งที่มรดกล้ำค่าของประเทศชาติถูกทำลายไป ซึ่งหากมีการขึ้นทะเบียนไว้กับกรมศิลปากร เมื่อมีการไปทำลายเช่นนี้ก็ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย หรือ หากยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ก็เป็นเรื่องจิตสำนึกและความรับผิดชอบของเจ้าอาวาส รวมทั้งคณะกรรมการวัดที่ปล่อยให้เกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้น
เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจและเสียดายอย่างที่สุด เพราะคุณค่าที่ถูกทำลายลงไปแล้ว ไม่ว่าเงินทองจำนวนมากเท่าใดหรือสิ่งที่สร้างขึ้นใหม่ก็ไม่สามารถทดแทนได้
ขณะที่ เพจเฟซบุ๊ก สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ โพสต์ข้อความเกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้นว่า ได้ประสานไปยังวัดหมื่นล้านแล้ว พร้อมขอให้วัด หยุดการดำเนินงานบูรณะซ่อมแซมไว้เป็นการชั่วคราวก่อน เพื่อจะได้ตรวจสอบโดยละเอียดและดำเนินการแก้ไขต่อไป
ภาพ : สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่
ทั้งนี้ วิหารวัดหมื่นล้าน ยังไม่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน มีลักษณะรูปทรงสถาปัตยกรรม ศิลปกรรมแบบล้านนาประยุกข์ โดยมีการบูรณะ ต่อเติมมาหลายยุคหลายสมัย ตามการใช้ประโยชน์ของอาคาร ลายรดน้ำที่บานประตูวิหาร บริเวณอกเลาของประตู เขียนลายรดน้ำเป็นภาษาล้านนาข้อความเดิมระบุการสร้างขึ้นใน พ.ศ.2460 พร้อมกับการก่อสร้างต่อเติมบริเวณมุขหลังคาด้านหน้าวิหารในคราวเดียวกัน
ภาพ : สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่
หากทางวัดและประชาชนชาวเชียงใหม่ ต้องการที่จะรื้อฟื้นลายรดน้ำบนบานประตูวิหารนี้ ทางสำนักฯ จะประสานผู้เชี่ยวชาญ จากกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ฯ และกลุ่มอนุรักษ์จิตกรรมฝาผนังฯ กรมศิลปากร เพื่อตรวจสอบและพิจารณาว่าจะสามารถดำเนินการลอกสีที่ทาทับออกเพื่อฟื้นคืนสภาพได้หรือไม่ต่อไป