วันนี้ (3 ส.ค.2563) ผลสำรวจธุรกิจเอสเอ็มอี หลังเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากกว่าร้อยละ 70 ได้แก่ ท่องเที่ยว โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร สุขภาพ ความงาม อัญมณี หัตถกรรม และภาคบริการ โดยร้อยละ 71.1 ทำให้ยอดขายลดลง รองลงมาขาดเงินหมุนเวียน แต่ร้อยละ 86.5 ยืนยันว่ายังไม่ได้ปลดแรงงาน แต่ใช้วิธีการลดจำนวนชั่วโมงการทำงานลง
อุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่าในระยะต่อไปหากผู้ประกอบการยังไม่มีรายได้เข้ามา จะกระทบต่อสภาพคล่อง โดยจะไม่สามารถประคองธุรกิจได้ระยะยาว โดยธุรกิจที่เกี่ยวกับสินค้าฟุ่มเฟื่อยจะประคองธุรกิจได้ไม่เกิน 3 - 6 เดือน และหากยังไม่ได้รับเงินกู้ ร้อยละ 46.5 จะปลดแรงงาน
ผศ.ธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์และธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า รัฐบาลต้องเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เน้นสร้างงาน ก่อนที่จะเห็นคนตกงานหลักล้านคนในเดือนตุลาคมนี้ และหากไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดจะทำให้เศรษฐกิจซึมตัวแรงและลึกมากขึ้น และอาจจะเห็นตัวเลขคนตกงานในระดับ 2-3 ล้านคนได้ในปีนี้
แรงงานอุตสาหกรรมเน้นส่งออกกระทบหนัก
สอดคล้องกับนายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์กรนายจ้างผู้ประกอบการค้าอุตสาหกรรมไทย ระบุว่า แรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เหล็ก ไฟฟ้า ยาง และเครื่องนุ่งห่ม จะเป็นอุตสาหกรรมแรกที่่มีโอกาสเสี่ยงตกงานสูง เพราะไม่สามารถส่งออกได้ หากนับรวมกับแรงงานภาคบริการที่ได้รับผลกระทบก่อนหน้า ทำให้ตลาดแรงงานไทยมีความเปราะบางมากที่สุดในรอบ 22 ปี นับตั้งแต่ปี 2540
นายธนิต ระบุว่า ในเดือน มิ.ย.มีแรงงานที่ใช้สิทธิจากการหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 สูงถึง 1.5 ล้านคน และต้นเดือนกรกฎาคม เหลือประมาณ 900,000 คน แสดงว่ายังมีแรงงานอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้กลับเข้าทำงาน หากนับรวมแรงงานที่มีความเสี่ยงในครึ่งปีหลัง ทั้งภาคบริการและภาคอุตสาหกรรม รวมแล้วประมาณ 1 ล้านคน
ส่วนวิโรจน์ สิตประเสริฐนันท์ นายกสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย ระบุว่า แม้ว่าโรงแรมจะกลับมาเปิดให้บริการได้ รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ แต่อาชีพมัคคุเทศก์ ซึ่งยังตกงานประมาณ 30,000 คน จึงต้องการให้รัฐบาลพิจารณา เปิดให้นักท่องเที่ยวบางกลุ่มเข้ามาได้ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการว่างงาน ของมัคคุเทศก์ได้
ทั้งนี้ นายวิโรจน์ ยังเสนอให้รัฐบาลหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพมัคคุเทศก์เพิ่มเติม นอกจากการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท หลังโครงการเราไม่ทิ้งกันสิ้นสุดลง หรือช่วยเหลือด้านสินเชื่อ เพื่อนำไปลงทุนหรือประกอบอาชีพอื่น