ป้ายประกาศสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดเพชรบุรี เรื่อง แจ้งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และออกจากที่ดิน ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ถูกนำมาปักไว้หน้าที่ทำการสภาประชาชน 4 ภาค มีบัญชีรายชื่อแนบท้ายบุคคลจำนวน 43 คน ที่จะต้องทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินแปลงนี้
ทีมข่าวได้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้ มีการฟ้องร้องสมาชิก "เครือข่ายสภาประชาชน 4 ภาค" จำนวน 8 คน ให้ออกจากพื้นที่ เนื่องจากทั้ง 8 คน ไม่ได้มีรายชื่อตรงตามบัญชีที่ ส.ป.ก.จังหวัดเพชรบุรี จัดสรรที่ดินให้แต่คนกลุ่มดังกล่าว กลับเข้ามาอยู่อาศัย มีการสร้างเรือนรับรองขนาดใหญ่ให้กับนายประภาส โงกสูงเนิน ประธานสภาเครือข่ายประชาชน 4 ภาค และสร้างศูนย์ฝึกอบรม โดยอ้างว่าเป็น "โครงการปลดหนี้" ภายในยังมีการจัดสรรที่ดินกันเอง เพื่อสร้างเพิงพัก กระจายตามจุดต่างๆ รอบพื้นที่ ชาวบ้านบริเวณนี้ บอกว่า ศูนย์ฝึกอบรม ถูกตั้งขึ้นเมื่อช่วงปี 2562 และหลังจากนั้น มักจะมีคนต่างถิ่นเดินทางเข้าออกเป็นประจำ โดยเฉพาะคนจากพื้นที่ภาคใต้
ชาวตำบลกลัดหลวง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เล่าว่า หลายหน่วยงานที่บอกว่าจะมาจัดการก็ไม่มีมาจริง ทำให้คนเหล่านี้ยังอยู่กันปกติ ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงยังได้รับความเดือดร้อน เมื่อมีการประชุมกันทั้งคืนแล้วศูนย์ฝึกอบรมกลับใช้เครื่องขยายเสี่ยง สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้รับจากชาวบ้านอีกราย ที่ระบุว่า มักจะมีคนต่างถิ่น เข้ามาสอบถามถึงโครงการดังกล่าว
ทีมข่าวตรวจสอบไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง พบว่า "ที่ดิน" แปลงที่มีการเข้ามาก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรม เป็นที่ดินที่ ส.ป.ก.เพชรบุรี ได้ดำเนินการจัดซื้อ จำนวน 3,565 ไร่ เพื่อจัดสรรให้กับเกษตรกรตามมติคณะรัฐมนตรี 3 ก.พ.2552 ในโครงการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกรสภาประชาชน 4 ภาค โดยแปลงที่มีข้อพิพาทเป็น 4 แปลง ที่ขณะนี้ถูกใช้เป็นสถานที่จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม "โครงการปลดหนี้"
ที่มาที่ไปของคดี เริ่มขึ้นเมื่อเกษตรกร 4 คน คือ นางสอย ส่องแสง น.ส.ประเสริฐ บัวงาม นายสังวาลย์ ศรีสว่าง และนางทองเลื่อน แย้มน้อย ฝ่าฝืนระเบียบ ข้อกฎหมาย และข้อกำหนดในสัญญาเช่าซื้อ โดยไม่ทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับการจัดสรร แต่กลับปล่อยให้กลุ่มคน ที่ไม่มีรายชื่อได้รับความช่วยเหลือตามมติคณะรัฐมนตรี เข้ามาครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแทน
ในหมายบังคับคดี ศาลมีคำสั่งให้ ทั้ง 4 คนพร้อมบริวาร ออกจากที่ดิน พร้อมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และให้ชำระค่าเสียหาย ขณะที่ 8 คน ยังพยายามต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 24 ก.ค.2563 ศาลมีคำสั่งกักขักทั้ง 8 คน เป็นระยะเวลาคนละ 6 เดือน แต่ได้รับการประกันตัว
ข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้น ทำให้ วันที่ 31 ก.ค.2563 แกนนำสภาประชาชน 4 ภาค นำโดยนายประภาส โงกสูงเนิน พร้อมสมาชิก เดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงถามถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาให้กับสมาชิกที่ถูกดำเนินคดี
โดยอ้างว่าที่ผ่านมา ทางเครือข่าย มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่373/2562 แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของสภาเครือข่ายประชาชนอีสาน และสภาประชาชน 4 ภาค เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาใน 3 ส่วน คือ ปัญหาที่ทำกิน ปัญหาหนี้สิน และการฟื้นฟูอาชีพ
ฉลอง แสงราษฎรเมฆินทร์ ที่ปรึกษาประธานเครือข่ายประชาชน 4 ภาค ระบุว่า องค์กรเราไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อหากำไร แต่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน คนที่อยู่ในสภาฯ ที่ผ่านการอบรมและยอมรับเงื่อนไขที่เข้าไปอยู่ในแปลง เพราะที่ผ่านมาบางคนไม่เข้าเงื่อนไขก็ต้องตัดออก
แต่เมื่อทีมข่าวตรวจสอบ พบว่า วันที่ 30 กรกฎาคม 2563 มีชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอ้างตัวว่ามีรายชื่ออยู่ใน 1,899 คน ที่ได้รับสิทธิ์ในการจัดสรรที่ดินจาก ส.ป.ก.ตัวจริง ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนคำสั่งที่ 373/2562 เนื่องจากถูกนำไปใช้อ้างถึง เพื่อสร้างผลประโยชน์ส่วนตัว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
THE EXIT : ขายความหวัง ลวงปลดหนี้