ล่าสุดเตรียมชงเรื่องนำเข้าขยะพลาสติกล็อตใหญ่ 6.5 แสนตัน ในปี 2564 แม้จะมีการยืนยันจาก รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงว่า เป็นเพียงข่าวลือเท่านั้น แต่ก็ส่งผลให้หลายฝ่ายเคลื่อนไหวคัดค้านการนำเข้าขยะพลาสติกอีกครั้ง
วันที่ 10 ส.ค.2563 ที่ผ่านมา ภาคีเครือข่ายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ (ภชต.) นำโดย น.อ.บัญชา รัตนาภรณ์ พร้อมด้วย นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.พรรคไทยศรีวิไลย์ นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.พรรคไทรักธรรม นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล
ลงพื้นที่ตรวจสอบขยะนำเข้าจากต่างประเทศ บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี หลังจากสำนักงานศุลกากร ตรวจอายัดไว้ตั้งแต่ 2 ปี ที่ผ่านมา กว่า 1 พันตู้ เนื่องจากถูกอายัดไว้ เพราะไม่มีใบอนุญาตนำเข้า มีการสำแดงเท็จเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย และเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่ห้ามนำเข้าประเทศไทยเด็ดขาด
ศุลกากรตรวจขยะเกรดต่ำนำเข้าจากญี่ปุ่น
นายนิมิตร แสงอำไพ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง นำตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 5 ตู้ ที่อายัดไว้ตั้งแค่ปี 2561 พบเป็นเศษพลาสติเกรดต่ำ ส่งกลิ่นเหม็น ไม่มีใบอนุญาตนำเข้า 4 ตู้ ต้นทางมาจากประเทศญี่ปุ่น ขณะนี้ศุลกากรอายัดไว้ และอีก 1 ตู้ เป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ตู้ปาจิงโกะ ไว้สำหรับเล่นการพนัน มาจากประเทศญี่ปุ่น ขยะประเภทนี้ต้องนำไปทำลายทิ้ง จะไม่เก็บไว้ประมูลเหมือนพลาสติก เนื่องจากว่าเป็นขยะห้ามนำเข้า และก็ต้องใช้งบประมาณในการเผาทำลายทิ้งตันละหลายพันบาท
ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ชี้แจงว่า การดำเนินการจับกุมขยะนำเข้าผิดกฎหมาย จะใช้วิธีผลักดันขยะออกนอกราชอาณาจักร และวิธีเปิดประมูลให้กับโรงงานอุตสาหกรรม ตามโควต้าของโรงงานอุตสาหกรรม ที่ได้รับการจัดสรรจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม
ปี 2562-63 ขายขยะนำเข้าแล้วกว่าพันตู้
จากรายงานของศุลกากรพบว่า ปี 2562 ขายขยะไปแล้ว 971 ตู้ ปี 2563 ขายขยะ 134 ตู้ รวม 1,105 ตู้ จะเป็นการขายทอดตลาด เพื่อผลักดันออกนอกราชอาณาจักรต่อไป เหลืออยู่ในท่าเรือ 520 ตู้ และรอสำรวจอีก 70 ตู้
ส่วนใหญ่ขยะนำเข้าที่พบ คือ เศษเม็ดพลาสติก และก็ไม่ปฎิเสธว่า ที่ขยะพลาสติกยังเข้ามาในไทย เพราะจีนปิดประเทศ และขัดแย้งกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดขยะ กำหนดให้รีไซเคิลขยะภายในประเทศให้เป็นศูนย์ และหากจะหยุดนำเข้าขยะพลาสติก ก็ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลักดันเป็นนโยบายห้ามเด็ดขาด
เพราะศุลกากรเป็นด่านสุดท้าย ที่ขยะมาถึงท่าเรือแล้ว อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ปล่อยละเลยให้ขยะมีพิษเข้าประเทศไทย เนื่องจากมีระบบ fast Scan ตรวจสอบรถบรรทุกใช้เวลา 15 นาทีเท่านั้น จะทราบผลทันทีว่า ภายในตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าอะไร
จีนปิดประเทศ ทำให้ขยะเข้าไทยเพียบ
จีนปิดประเทศทำให้การนำเข้าขยะพลาสติกพุ่งสูงขึ้นจริง แต่เชื่อว่าไม่ได้มีนัยยะสำคัญอะไร เพราะเขาไม่ได้จงใจนำมาทิ้ง เนื่องจากพลาสติกถึงจะเกรดต่ำก็จริง หากมีผู้ประมูลก็นำไปรีไซเคิลได้
ขยะที่นำเข้าผิดกฎหมายจะถูกอายัดไว้ เมื่อไม่มีผู้มาแสดงความเป็นเจ้าของตามระยะเวลาที่กำหนด 60 วัน โดยจะตกเป็นสมบัติของแผ่นดินตามกฎหมาย
จากนั้นศุลกากรจะนำมาประมูลขายทอดตลาด หากเป็นขยะพลาสติก ราคากิโลกรัมละ 2 -5 บาท สูงสุดไม่เกิน 12 บาท แต่หากเป็นขยะปนเปื้อนสารอันตราย (อนุสัญญาบาเซล) บริษัทนำเข้าจะต้องถูกปรับร้อยละ 10 ตามราคาขยะ แต่จะผลักดันกลับไปยังประเทศต้นทาง โดยจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง
กฎหมายไทยอ่อน ช่องว่างนำเข้าขยะ
ปัญหาการนำเข้าขยะพลาสติก ถูกจับตามองจากผู้ประกอบการขยะรีไซเคิลในไทย รวมทั้งภาคีเครือข่ายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ และตัวแทนจากพรรคการเมือง มองว่า กฎหมายยังมีช่องโหว่ ให้สามารถนำเข้าขยะได้ง่าย ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดการตั้งคำถาม ถึงการบังคับใช้กฎหมายของไทยที่อ่อนเกินไป
เช่น หากเป็นขยะพลาสติกนำเข้าไม่มีใบอนุญาต สำแดงเท็จ ทำได้เพียงผลักดันออกนอกราชอาณาจักร หรือ ยึดไว้เป็นสมบัติแผ่นดิน ประมูลขายทอดตลาดตามโควต้าโรงงานนั้นๆ แต่กลับไม่ค่อยมีการเปรียบเทียบปรับบริษัท ที่ไม่ทำตามกฎหมาย ตามมาตรา 244 กำหนดโทษไว้ว่า จำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำและปรับ
นักวิจัยชี้ต่างประเทศตั้งใจขนขยะมาทิ้งไทย
ขณะที่นักวิจัยจากมูลนิธิบูรณะนิเวศ ที่ร่วมสังเกตการณ์ สุ่มเปิดตู้คอนเทนเนอร์ในครั้งนี้ สะท้อนปรากฏการณ์ คุณภาพขยะพลาสติกในตู้ ทำให้เห็นชัดว่า ประเทศต้นทางต้องการส่งขยะมาทิ้งในเมืองไทย เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นขยะเกรดต่ำ หรือ นำไปรีไซเคิลได้น้อย ไม่มีประโยชน์ทางการค้า และขยะบางชนิดเช่น อเล็กทรอนิกส์ ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการฯ แทบไม่อยากจะประมูล
ขยะพลาสติกที่พบเป็นพลาสติกเกรดต่ำ ประมูลไปก็นำไปรีไซเคิลได้ไม่กี่อย่าง ส่วนใหญ่นำเข้ามาแบบนี้ คือ การนำมาทิ้งปลายทางทั้งนั้น
ด้าน น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เปิดเผยถึงแนวโน้มการนำเข้าขยะพลาสติกล็อตใหญ่ในปี 2564 ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมยังคงนโยบายส่งเสริมการนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกและสภาอุตสาหกรรม ที่ยังคงเห็นว่า จำเป็นต้องนำเข้าเศษพลาสติกมาป้อนโรงงานรีไซเคิลที่ตั้งขึ้นมา
โดยเฉพาะต่อไปจะมีโรงงานกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอีกมาก ในเขตเศรษฐกิจปลอดอากร (Free Trade Zone) และเขต EEC ดังนั้นกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ถึงจะเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ก็เป็นตัวแทนสำคัญของกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก ที่ขวางมาตรการห้ามนำเข้าพลาสติกโดยสิ้นเชิง นอกจากการออกประกาศให้แค่ชะลอการนำเข้าในปี 2561
ไทยจ่อนำเข้าพลาสติกอีก 6.5 แสนตัน
ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่า ในปี 2564 กรอ. ยังจะอนุญาตให้โควตานำเข้าพลาสติกประมาณ 6.5 แสนตัน ซึ่งเป็นปริมาณที่สูงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เพื่อสนองความต้องการลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรม 58 แห่ง และมีหลายแห่งที่เป็นการลงทุนจากนักลงทุนจีน ที่นำเข้าเศษพลาสติก 6.5 แสนตัน สำหรับอุตสาหกรรมรีไซเคิลพลาสติกเพื่อส่งออกเป็นหลัก
ขัดกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการห้ามนำเข้าขยะ-เศษพลาสติก และขัดกับนโยบายการลดขยะพลาสติกของไทย รวมถึงจะทำลายระบบการคัดแยกและธุรกิจการรับซื้อของเก่าในประเทศ
งานวิจัยมูลนิธิฯ พบว่า ไทยนำเข้าขยะพุ่งสูงสุดในอาเซียน เป็นฐานการตั้งโรงงานรีไซเคิลขยะของจีน ที่ย้ายฐานการผลิตมาไทยหลังปิดประเทศ เป็นเหตุผลว่า ทำไมต้องมีความพยายามนำเข้าขยะอีก ทั้งที่ขยะไทยก็มากเพียงพออยู่แล้ว
จีนเดินหน้าปกป้องสิ่งแวดล้อม ประชาชน
ขณะที่กระทรวงสิ่งแวดล้อมของจีน ชี้แจงต่อ WTO (18 ก.ค.2560) ว่า ขยะจากต่างประเทศ ทำลายสิ่งแวดล้อมในจีนอย่างรุนแรง รัฐบาลจีนจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเด็ดขาด เพื่อประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของคน
รวมถึงคุ้มครองสัตว์และพืชภายในประเทศ ด้วยการห้ามนำเข้าขยะ ตามรายการที่แจ้งไป 56 รายการ ซึ่งจีนและฮ่องกง เป็นผู้นำเข้าเศษพลาสติกรายใหญ่สุดในโลกจาก 40 ประเทศทั่วโลก คิดเป็นร้อย 72 จากสหรัฐอเมริกา
ปัญหานี้ส่งผลกระทบ ทำให้ราคาขยะที่ร้านรับซื้อขายของเก่าทั่วประเทศไทย ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องมากว่า 3 ปีแล้ว ทั้งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะกลุ่มกระดาษและพลาสติก ราคารับซื้อขวดน้ำพลาสติกอยู่ที่ กิโลกรัมละ 4 บาท จาก 10 บาท เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา
ขยะพลาสติกในไทยราคาตก กระทบซาเล้ง
ไทยพีบีเอสสอบถาม พนักงานร้านรับซื้อของเก่าย่านเขตดอนเมือง ถึงปริมาณขยะในแต่ละวัน โดยเฉพาะพลาสติก ที่เป็นเป้าหมายหลักของการนำเข้าขยะอีก 6.5 แสนตัน ว่า ขยะไทยมีเพียงพอหรือไม่ ร้านขายของเก่า ยืนยันว่า ขยะไทยมีจำนวนมาก แต่รถซาเล้ง ไม่มีแรงจูงใจในการเก็บ เพราะราคาตกต่ำลงอย่างมาก
ขยะไทยไม่ได้สกปรก มีจำนวนมาก คุณภาพดีกว่าเมืองนอกด้วยซ้ำ แต่ราคาที่ต่ำลงเรื่อยๆ ทำให้ซาเล้งไม่เก็บขยะแล้ว ขยะที่เข้ามาในร้านรับซื้อของเก่าก็ลดลงตามไปด้วย
กรมโรงงานอุตสาหกรรมระบุว่า ปี 2562 ความต้องการเศษพลาสติกของไทยมีปริมาณ 3.875 ล้านตัน สำหรับโรงงานรีไซเคิลพลาสติก ปริมาณ 3.248 ล้านตัน โรงงานผลิตเส้นใยปริมาณ 0.027 ล้านตัน และโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกปริมาณ 0.6 ล้านตัน
และข้อมูลจากการสอบถามโรงงานอุตสาหกรรม 58 แห่ง พบว่า ต้องการใช้เศษพลาสติกปริมาณ 1 ล้านตัน (สำหรับการใช้ภายในประเทศร้อยละ 30 และต่างประเทศ ร้อยละ 70)
จีนเข้มงวด บีบโรงงานไร้มาตรฐานเข้าไทย
ประเทศไทยประสบปัญหาจากมาตรการของจีนโดยตรง เนื่องจากโรงงานของจีนหลายแห่ง ที่หนีมาตรการทางกฎหมายที่เข้มงวดขึ้นในประเทศของตน ย้ายฐานโรงงานเข้ามาประเทศไทย เห็นได้ชัดเจน ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน 2560
และจากการตรวจจับระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2561 พบว่า บริษัทที่กระทำผิดกฎหมาย เป็นการร่วมทุนหรือมีนักลงทุนจากจีนอยู่เบื้องหลังเป็นส่วนใหญ่
ผลกระทบที่ชัดเจนอีกประการหนึ่งคือ การนำเข้าขยะจากต่างประเทศของไทยพุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะขยะพลาสติก
จากการสำรวจของไฟแนนเชียลไทมส์พบว่า ไทยมีการนำเข้าขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 1,370เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ผลการสำรวจชนิดและปริมาณนำเข้าขยะจากต่างประเทศ ระหว่างปี 2557-2561 ของมูลนิธิบูรณะนิเวศ ก็พบว่าตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 เป็นต้นมา
ประเทศไทยมีการนำเข้าขยะพลาสติกพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ตัวอย่างเช่น การนำเข้าเศษพลาสติกและพลาสติก ที่ใช้ไม่ได้ ภายใต้พิกัดศุลกากร HS3915 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะพลาสติกอื่นๆ ที่เป็นพิกัดย่อย 3915.90.00 ดังนี้คือ
ปี 2557 มีการนำเข้าอยู่ที่ 73,132 ตัน, ปี 2558 มีการนำเข้าลดลงเป็น 53,443 ตัน ปี 2559 มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 67,087 ตัน ปี 2560 การนำเข้าขยับขึ้นเป็น 134,142 ตัน และปี 2561 การนำเข้าพุ่งสูงถึง 383,862 ตัน
นโยบายนี้ ทำให้เกิดกระแสการคัดค้านจากกลุ่มผู้ประกอบการรับซื้อของเก่าและการคัดแยกขยะอย่างหนัก เนื่องจากการนำเข้าพลาสติกดังกล่าว จะเป็นคัดกับนโยบายของรัฐบาลเองที่ต้องการห้ามนำเข้าขยะเศษพลาสติก และขัดกับนโยบายการลดขยะพลาสติกของไทย รวมถึงจะทำลายระบบการคัดแยกและธุรกิจการรับซื้อของเก่าในประเทศ