คงจะไม่ใช่ป่าพระเกาะนางคำ ที่ตกเป็นเป้าการบุกรุกทำเกษตรเชิงเดี่ยว แต่มีพื้นที่ชุ่มน้ำในหลายจังหวัดของภาคใต้ถูกปักหลักเขต ซึ่งอาจหมายถึงการถูกครอบครองโดยมิชอบหรือไม่ ในรายชื่อผู้ขอใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อออกเอกสารสิทธิ์บางคนครอบครองมากกว่า 50 ถึง 100 ไร่ เจ้าหน้าที่สงสัยว่ามีนายทุนอยู่เบื้องหลังหรือไม่
นกเป็ดหงส์ ซึ่งเป็นนกน้ำขนาดใหญ่ ร่อนถลาลงสู่ผืนน้ำ ซึ่งชาวนาในพื้นที่ต.พังยาง อ.ระโนด จ.สงขลา ได้ปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่จากการทำนาให้เป็นที่อยู่แหล่งทำรังวางไข่ของนกเป็ดหงส์ และนกน้ำหลายชนิด คืนความสมบูรณ์ของพื้นที่ชุ่มน้ำริมทะเลสาบสงขลาฝั่งตะวันออก
นายไวศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ชาวนา ต.พังยาง อ.ระโนด จ.สงขลา บอกว่านกเป็ดหงส์ เวลาลงมาหากินในพื้นที่ชุ่มน้ำเสร็จแล้ว จะไปพักผ่อนบนเนินดิน ประกอบกับฝั่งข้างหลังมีบ่อ ถ้ากรณีตรงนี้มีน้ำร้อนและความลึกจขงอน้ำน้อย นกจะบินไปอีกฝ่งบ่อที่มีต้นไม้อยู่
นกเป็ดหงส์ ช่วยกระตุ้นคนอนุรักษ์
การมีอยู่ของนกเป็ดหงส์ และนกน้ำอีกนับร้อยชนิด ช่วยดึงดูดช่างภาพและผู้ชื่นชมธรรมชาติจากทั่วประเทศ ให้เข้าเยี่ยมเยือนพื้นที่ ต.พังยาง ถ่ายภาพนกนานาชนิด และความสวยงามของพื้นที่ชุ่มน้ำ ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชน ในขณะที่ผู้คนในชุมชนเริ่มตระหนักคุณค่าของพื้นที่ชุ่มน้ำหันมาดูแลระบบนิเวศให้สมบูรณ์มากขึ้น
นายพินิจ เพชรชู นายก อบต.พังยาง อ.ระโนด จ.สงขลา ถือว่าเริ่มนับหนึ่งที่จะให้นกเป็ดหงส์อยู่ร่วมกับชุมชน กับวิถีชีวิตและนกไม่หนีหายไปอยู่ในขั้นตอนการหารือ
ข้ามไปอีกฟากหนึ่งของทะเลสาบสงขลา พื้นที่ป่าพรุบริเวนเกาะโคบ ในต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง ซึ่งมีสภาพเป็นทุ่งหญ้าริมทะเลสาบเนื้อที่กว่า 800 ไร่ ในช่วงหน้าฝนจะมีน้ำท่วมขังทุกปี ชาวบ้านบอกว่าทุ่งหญ้านี้ เคยเป็นพื้นที่ทำรังวางไข่ของนกนานาชนิด แต่ปัจจุบันกลับถูกนำไปออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินแล้วทั้งหมด และตกไปอยู่ในการครอบครองของกลุ่มทุน
นายมณี ติ้นหนู ชาวบ้าน ต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุงชาวบ้านระบุว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวเคยมีการทำกินและใช้ประโยชน์มาก่อน แต่การออกเอกสารสิทธิ์น่าจะรุกล้ำไปถึงบริเวณพื้นที่ซึ่งมีน้ำท่วมขัง
พวกเราเห็นว่าทำอะไรไม่ได้แล้ว ถึงแม้จะราคาถูกอย่างไรก็ขาย ไม่มากมายก่ายกองอะไร ไร่ละแค่ 10,000 บาท
บุกรุกที่ดินกว่า 800 ไร่จี้รัฐตรวจสอบ
เสาปูนซีเมนต์ เพื่อแสดงการครอบครองพื้นที่เอกสารสิทธิ์บริเวนเกาะโคบ ถูกปักรุกลงไปถึงบริเวนจุดที่มีน้ำท่วมขังของทะเลสาบ ทำให้นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส. พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตุว่าทุ่งหญ้าริมทะเลสาบไม่มีความเหมาะสมที่จะนำไปออกเอกสารสิทธิ์ และที่สำคัญมีพื้นที่ชุ่มน้ำเช่นเดียวกับเกาะโคบ บริเวณรอยต่อของจังหวัดพัทลุง สงขลาและนครศรีธรรมราช ถูกนำไปออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบเป็นจำนวนมากก่อนที่จะถูกผ่องถ่ายไปอยู่ในมือของกลุ่มทุน
มีคนออกเอกสารสิทธิ์ไปแล้วประมาณ 800 ไร่ อยากตั้งประเด็นให้ผู้ที่มีส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบที่ดินแปลงนี้และเร่งรัดดำเนินคดี
ไฟที่ไหม้ป่าพรุต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือนในช่วงกลางปี 2562 บริเวนป่าป่าพรุควนเคร็งในพื้นที่รอยต่อของจ.นครศรีธรรมราช สงขลาและพัทลุง ได้สร้างความเสียหายให้กับป่าพรุไปกว่า 20,000 ไร่ ป่าพรุที่เกิดความเสื่อมโทรมจากไฟไหม้ กลายเป็นช่องทางให้เกิดการบุกรุก เพื่อครอบครองใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะการบุกรุกเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน
นายนริศ ขำนุกรักษ์ ส.ส.พัทลุงเห็นว่าควรมีการโซนนิ่งพื้นที่เกษตรกรรมให้เหมาะสม เพราะหากปล่อยให้ป่าพรุ ยังคงถูกทำลายต่อไป พื้นที่ชุ่มน้ำรอบทะเลสาบสงขลาทั้งหมด ก็จะถูกทำลายไปด้วยเนื่องจากเป็นระบบนิเวศที่เชื่อมโยงถึงกัน เราพบว่าพื้นที่นาร้างมีการปลูกปาล์ม แต่ในช่วงหลังหลังราคาไม่ดี ชาวบ้านทำไม่คุ้ม ดังนั้นรัฐควรจัดโซนนิ่ง
พบครอบครอง 50-100 ไร่เข้าข่ายมากผิดปกติ
เอกสารการสำรวจบัญชีรายชื่อประชาชนผู้ใช้ประโยชน์ และครอบครองที่ดินในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย เพื่อเตรียมนำไปสู่การออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินให้กับผู้ครอบครองตามมติคณะรัฐมนตรี มีผู้ยื่นความจำนงขอเอกสารสิทธิ์บางรายมีการครอบครองพื้นที่มากผิดปกติ ตั้งแต่ 50ไร่ ไปจนถึงกว่า 100 ไร่ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องมีการตรวจสอบการใช้ประโยชน์อย่างรอบคอบ ป้องกันการถูกกลุ่มทุนสวมสิทธิ์
นายศุภเศรษฐ์ โอภิธากรณ์ เลขานุการชมรมดูนก จ.พัทลุง ตั้งข้อสังเกตุว่าการบุกรุกป่าพรุเพื่อนำไปปลูกพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่ชุ่มน้ำนั้น มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจต่ำมาก หากเปรียบเทียบกับคุณค่าของระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีอย่างหลากหลาย
ถ้าชาวบ้านปลูกแล้วมีเงิน ความมั่นคง มีรายได้ดี แต่นี่ล้มเหลวและปลุกได้แค่รอบเดียว และยังมีปัญหามลพิษที่ทำลายระบบนิเวศ
หนุนจัดการก่อนพื้นที่ชุ่มน้ำเสียหาย
ภาพมุมสูงเผยให้เห็นพื้นที่ชุ่มน้ำใจกลางเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยในพื้นที่เชื่อมต่อระหว่าง อ.ควน ขนุน จ.พัทลุง กับอ.ระโนด จ.สงขลา มีการรุกคืบเพื่อครอบครองการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างต่อเนื่อง
นายนาคิน แก้วบุญส่ง รองประธานมูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ควรมีองค์กรกลางเข้ามาหนุนเสริมเชื่อมต่อการทำงานในการดูแลพื้นที่ชุ่มน้ำ การใช้ประโยชน์ของผู้คน และการบริหารจัดการพื้นที่ของหน่วยงานภาครัฐเข้าด้วยกัน
ปรากฎการณ์ไฟไหม้ป่าพรุ รวมถึงการบุกรุกพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว จนทำให้มีการสูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำในเขตรอยต่อของจ.พัทลุง สงขลา และนครศรีธรรมราชต่อเนื่อง ในรอบหลายปีที่ผ่านมา จนส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตผู้คนอย่างรุนแรงนั้น
ทั้งนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม และภาคประชาชนมองเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าการบริหารจัดการดูแลป่าพรุของหน่วยงานภาครัฐยังมีช่องว่างเพราะมีแนวคิดแบบแยกส่วน จึงเห็นว่าจากนี้ไปควรมีการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและชุมชนเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการดูแลป่าพรุและพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืน