ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชาวสวนลำไยลำพูนโค่นต้นทิ้ง หลังขายขาดทุน ปล่อยไว้ไม่คุ้มค่า

ภูมิภาค
13 ส.ค. 63
16:51
1,435
Logo Thai PBS
ชาวสวนลำไยลำพูนโค่นต้นทิ้ง หลังขายขาดทุน ปล่อยไว้ไม่คุ้มค่า
ผลกระทบภัยแล้งทำให้ปีนี้ผลผลิตลำไยไม่ได้คุณภาพตามที่ต้องการ ประกอบกับราคาลำไยที่ตกต่ำ ต่อเนื่องมาหลายปี ชาวสวนลำไย บางส่วนใน อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ตัดสินใจโค่นต้นลำไยทิ้ง เพื่อเตรียมปลูกพืชอย่างอื่นทดแทน เพราะหากดูแลต่อไปไม่คุ้ม

ชาวสวนลำไย บ้านหนองสลิง ต.ศรีเตี้ย อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน บางส่วนตัดสินใจโค่นต้นลำไยที่ปลูกมากว่า 10 ปีทิ้ง เพื่อเตรียมปลูกพืชอื่นทดแทน โดยเฉพาะมะม่วง

เนื่องจากในช่วงตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา ประสบปัญหาภัยแล้ง มีน้ำไม่เพียงพอสำหรับการดูแล ส่งผลทำให้ต้นไม่สมบูรณ์ เมื่อออกดอก และให้ผลผลิตก็ไม่มีคุณภาพ ประกอบกับราคาผลผลิตตกต่ำ สถานการณ์ COVID-19 ทำให้ไม่สามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ ขณะนี้หลายคนจึงตัดสินใจโค่นต้นลำไยทิ้ง เพราะหากดูแลต่อจะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น

 

น.ส.บังอร ยองจา ชาวสวนลำไยบ้านหนองสลิง หมู่ 4 ต.ศรีเตี้ย อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ระบุว่า ทำสวนลำไยมาตลอด แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง น้ำไม่เพียงพอ ทำให้ผลลูกลำไยไม่ใหญ่ตามขนาดที่ผู้รับซื้อต้องการ จึงถูกกดราคา ขาดทุนต่อเนื่อง เมื่อไม่มีงบประมาณดูแลจึงตัดสินใจโค่นทิ้ง และอาจหันมาปลูกมะม่วงหรือพืชอย่างอื่นทดแทน

 

บังอร ยองจา ชาวสวนลำไยบ้านหนองสลิง

 

ด้านนายประวิน ปาตีคำ ชาวสวนลำไย และสมาชิกสภาเกษตรกร อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ระบุว่า เริ่มมีชาวสวนตัดสินใจโค่นต้นลำไยเพิ่มมากขึ้น ปีนี้แม้ราคาลำไยเกรด AA กิโลกรัมละเกือบ 20 บาท แต่ผลผลิตไม่ได้ตามที่ต้องการจึงถูกหักเหลือกิโลกรัมละ 6-7 บาท ทำให้ขาดทุน ประกอบกับไม่สามารถส่งออกลำไย ไปต่างประเทศได้ จากปัญหา COVID-19 ก็ยิ่งเป็นการซ้ำเติมชาวสวนอีก

ประวิน ปาตีคำ ชาวสวนลำไย และสมาชิกสภาเกษตรกร

 

นางนิยดา หมื่นอนันต์ พาณิชย์จังหวัดลำพูน ระบุว่า มาตรการรองรับผลผลิตลำไย ปี 2563 สำนักงานพาณิชย์จังหวัดลำพูน ได้เตรียมมาตรการรองรับผลผลิตลำไยไว้คือ

1.เชื่อมโยงตลาดล่วงหน้า โดยใช้สัญญาข้อตกลงมาตรฐานของกรมการค้าภายใน ปริมาณลำไยรวมทั้งสิ้น 4,808 ตัน (เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2563)

2.เชื่อมโยงร้านธงฟ้า และ อปท. เป้าหมาย 700 อำเภอ (65 จังหวัด) ปริมาณเป้าหมาย 4,200 ตัน 3.โครงการสนับสนุนจุดรวบรวม และคัดคุณภาพลำไย เพื่อกระจายออกนอกแหล่งผลิต จ.ลำพูน ปี 2563 เป้าหมายปริมาณ 300 ตัน (ดำเนินการโดยสถาบันเกษตรกรที่มีศักยภาพ) (ใช้งบ คชก.)

4.โครงการชดเชยดอกเบี้ย จุดรวบรวมลำไยสดเพื่อแปรรูป (ลำไยอบแห้ง) ปี 2563 จังหวัดลำพูน เป้าหมายการรับซื้อผลผลิต 6,000 ตัน (ชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ระยะเวลา 10 เดือน) (ใช้งบ คชก.)

 

นิยดา หมื่นอนันต์ พาณิชย์จังหวัดลำพูน

 

5.คัดเลือก สนับสนุน ผู้ประกอบการค้าผลไม้จากเกษตรกร เพื่อคัดแยก คัดคุณภาพ บรรจุผลไม้ในบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน และส่งสินค้าไปยังตลาดปลายทางได้

รวมทั้งประสานกับ Platfroms เช่น Thailand Postmart.com Lazada Shopee U-Commerce ตามแผนผลักดันการกระจายผลไม้เกรดพรีเมี่ยมผ่านช่องทางออนไลน์ในประเทศ

6.ส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ เข้าสู่ตลาดออนไลน์ ตลาดพาณิชย์ลำพูน เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้า ผู้ซื้อผู้ขายสามารถซื้อขายกันได้โดยตรง ไม่ผ่านคนกลาง

7.ส่งเสริมลำไย GI โดยการทำตลาดล่วงหน้า ประชาสัมพันธ์การจำหน่ายลำไย เบี้ยวเขียว Gi ผ่านช่องทางออนไลน์ ปริมาณสั่งจองล่วงหน้าแล้ว 1,000 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 160 บาท

8.เตรียมจัดทำ โครงการ กระจายลำไยออกนอกแหล่งผลิตจังหวัดลำพูน ปี 2563 ปริมาณเป้าหมาย 500 ตัน (ใช้งบ กรมการค้ายใน)

9.เตรียมจัดทำ โครงการรณรงค์การบริโภคผลไม้ การจัดงานแสดง และจำหน่ายผลไม้ (จ.สงขลา)

 

 

สำหรับจ.ลำพูน มีพื้นที่ปลูกลำไยกว่า 260,000 ไร่ คาดการณ์ว่าปี 2563 จะมีผลผลิตลำไยในฤดู และนอกฤดู ออกสู่ตลาดมากกว่า 2 แสน 4 หมื่นตัน แม้ขณะนี้ราคาเกรด AA จะยังอยู่ที่กิโลกรัมละ 16 บาท แต่ผลผลิตส่วนใหญ่ไม่ผ่านมาตรฐาน จึงยังประสบปัญหาขาดทุน หลายคนจึงตัดสินใจโค่นทิ้ง

 

ข้อมูลของส่วนเศรษฐกิจภาคเหนือ ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ไทยเป็นผู้ส่งออกลำไยเป็นอันดับ 1 ของโลก ปริมาณส่งออกลำไย และ ผลิตภัณท์แปรรูป เพิ่มขึ้นจาก 5.53 แสนตันในปี 2558 เป็น 7.43 แสนตันในปี 2562 มีพื้นที่เพราะปลูกทั่วประเทศกว่า 1 ล้าน 1 แสนตัน และมีเกษตรกรเกี่ยวข้องกว่า 2 แสนครัวเรือน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง