วานนี้ (13 ส.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีมีบริโภคไปซื้อแมงกะพรุนทำอาหารจากตลาดเช้าสัตหีบ จ.ชลบุรี แต่เมื่อนำไปลวกในน้ำร้อน แมงกะพรุนกลับมีลักษณะคล้ายพลาสติก หรือแมงกะพรุนปลอม โดยได้บันทึกคลิปและโพสต์ลงในเฟซบุ๊ก
ในคลิป ผู้บริโภคพยายามอธิบายให้เห็นความต่าง บอกว่าแมงกะพรุนตอนอยู่ในถุง ที่ซื้อมายังไม่เห็นความผิดปกติ แต่เมื่อนำไปลวกในน้ำร้อน แมงกะพรุนกลับมีเนื้อสัมผัส เหมือนพลาสติก หรือคล้ายยาง โดยบอกว่า ซื้อแมงกะพรุนนี้มาจากตลาดเช้าสัตหีบ
น.ส.พิกุลโสภา ปลัดอำเภอสัตหีบ ร่วมกับสาธารณสุขอำเภอสัตหีบ เทศบาลเมืองสัตหีบ และเจ้าหน้าที่ฐานทัพเรือสัตหีบ ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านจำหน่ายแมงกะพรุนทุกร้าน ในตลาดเช้าสัตหีบ เพื่อเก็บเนื้อแมงกะพรุนจาก 4 ร้านค้า เป็นร้านค้าทั่วไป 3 ร้าน และร้านค้าส่ง 1 ร้าน ไปตรวจสอบว่ามีแมงกะพรุนปลอมจริงหรือไม่
โดยจะนำส่งไปตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งต้องรอผล 7 วัน เบื้องต้นทุกร้านให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และยืนยันว่าร้านของตัวเอง เป็นแมงกะพรุนของจริง ไม่ใช่แมงกระพรุนปลอมตามคลิป
อาจารย์เจษฎา เผยเคยมีเคสที่จีนปี 2559
ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก "อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์" โดยรศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความระบุว่า ข่าวเจอ แมงกะพรุนเหนียว เหมือนทำจากยางหรือพลาสติก ไม่น่าเป็นแมงกะพรุนปลอมครับ
นักข่าวติดต่อมาคืนนี้เลย กับข่าวล่าสุดที่บอกว่า "มีคนโพสต์คลิปเฟซบุ๊กว่า ซื้อแมงกะพรุน จากตลาดเช้าสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี แต่เมื่อลวกในน้ำร้อน กลับเหนียวเหมือนพลาสติกหรือยาง เลยบอกว่าน่าจะเป็นแมงกะพรุนปลอม" ? .... ผมว่าไม่น่าใช่นะครับ
จะดูจากสภาพของแมงกะพรุนตามในคลิปข่าวแล้วหน้าตามันก็เหมือนกับแมงกะพรุนมากๆ ซึ่งถ้าใครทำปลอมกันละเอียดขนาดนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และราคาก็น่าจะแพงน่าดู เห็นว่าซื้อมากิโลกรัมละ 100 บาท แต่ถ้าทำจากพลาสติกหรือยาง เหมือนจริงระดับงานศิลป์แบบนี้ ผมว่ามันน่าจะแพงกว่านั้น
จริงๆ แล้ว จะบอกว่า "แมงกะพรุนปลอม" ไม่เคยมีเลยก็ไม่ใช่ เพราะเคยมีข่าวในประเทศจีนเหมือนกัน (ดูลิงค์ด้านล่าง) คือในปี พ.ศ.2559 ตำรวจจีนเคยบุกทลายโรงงานผลิตแมงกะพรุนปลอม ในมณฑลเจ้อเจียงและมณฑลเจียงซู มีจำนวนกว่า 10 ตัน โดยใช้วัตถุดิบเป็นสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค 3 ชนิด ได้แก่ sodium alginate, calcium chloride และ aluminum sulfate ซึ่งมีอันตรายเนื่องจากมีระดับของอลูมิเนียมสูงถึง 800 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สูงกว่าระดับที่กฎหมายจีนกำหนดไว้ถึง 8 เท่า
แนะส่องกล้องจุลทรรศ์ดูโครงสร้างเนื้อเยื่อ
แต่ถ้าดูตามรูปประกอบด้านล่าง จะเห็นได้ชัดว่า สภาพของแมงกะพรุนปลอมที่คนจีนเคยทำนั้น ไม่ได้ดูคล้ายกับของจริงแต่อย่างไร ดูคล้ายๆ เส้นวุ้น ทำรูปทรงออกมาง่ายๆ มากกว่า ส่วนแมงกะพรุนเหนียวๆ ที่เป็นข่าวในบ้านเรานั้น
จริงๆ ก็ตรวจสอบเองไม่ยากถ้าใช้แว่นขยายหรือกล้องจุลทรรศน์ส่องดูว่าโครงสร้างของเนื้อเยื่อนั้น เป็นของสิ่งมีชีวิต หรือเป็นพลาสติกเป็นยาง กันแน่ ไม่เช่นนั้น ก็คงต้องรอผลการตรวจสอบจากทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในอีก 7 วัน
แต่การที่แมงกะพรุนจะมีลักษณะเหนียวนั้นก็เป็นไปได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากสายพันธุ์ของแมงกะพรุนที่เอามาใช้ทำแมงกะพรุนดองขาย วิธีและสารเคมีที่ใช้ในการดอง รวมทั้งการจัดเก็บแมงกะพรุนก่อนที่จะมาขายหรือนำไปประกอบอาหาร (เช่น เคยเอาไปแช่ช่องฟรีซแข็งจัด ก่อนจะเอามาทำอาหารอีกทีหรือเปล่า เพราะจะทำให้โครงสร้างของเนื้อเยื่อเสียสภาพได้)รอดูผลกันตรวจสอบนะครับ แต่ผมขอแทงไว้ก่อนว่า ไม่น่าใช่แมงกะพรุนปลอมครับ"
ภาพและข้อมูลข่าวเรื่อง แมงกะพรุนปลอมในจีน จาก http://en.people.cn/n3/2016/0509/c98649-9055139.html