จากกรณีการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นกระแสข่าวในช่วงปลายปี พ.ศ. 2562 โดยมีนักวิชาการและผู้ประกอบการโทรคมนาคมหลายราย ได้แสดงความคิดเห็นว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวอาจก่อให้เกิดการผูกขาดแก่เอกชนรายเดียว และได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ทบทวนการดำเนินโครงการดังกล่าวอีกด้วย
วันนี้ (17 ส.ค.63) สำนักงาน ป.ป.ช.โดยสำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต โดยคณะกรรมการเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต ซึ่งมี พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานฯ ได้ศึกษาและรวบรวมข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการฯ รวมถึงเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งจากการศึกษาพบว่า โครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีประเด็นที่น่าสังเกตหลายประการ อาทิ ปัญหาความซ้ำซ้อนในการมอบหมายภารกิจการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ปัญหาการผูกขาด ปัญหาเรื่องแหล่งที่มาของเงินทุนที่ไม่ชัดเจน ความไม่ชัดเจนของผู้รับผิดชอบหากการดำเนินโครงการก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น เป็นต้น
ดังนั้น จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 50/2563 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 จึงได้มีมติให้เสนอข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต ตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 กรณีศึกษา “โครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร” ต่อคณะรัฐมนตรี โดยมีข้อเสนอแนะ ดังนี้
1.ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน กสทช. บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ร่วมดำเนินการในการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ทั้งในส่วนของการกำหนดแผนยุทธศาสตร์การก่อสร้าง และการบริหารจัดการท่อร้อยสายสื่อสารให้เป็นแนวทางเดียวกันทั้งประเทศ เพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบการโทรคมนาคมทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ เสถียรภาพของโครงข่ายสื่อสาร ความมั่นคงของประเทศ และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ทั้งนี้ ให้หน่วยงานเจ้าของพื้นที่ มีหน้าที่อำนวยความสะดวกในการดำเนินการ
2.ให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติ การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เพื่อให้สามารถตรวจสอบการดำเนินงานได้กรณีข้างต้น ให้รวมถึงบริษัทหรือนิติบุคคลที่จัดตั้งโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือหุ้นเกินร้อยละ 50
3.พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาในเรื่องของขั้นตอนการขออนุญาตดำเนินการก่อสร้าง ท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน ตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 โดย กสทช. กับหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ควรพิจารณาร่วมกันเพื่อให้อนุญาตการใช้สิทธิแห่งทางและอนุญาตให้ ใช้พื้นที่ในการก่อสร้าง ทั้งนี้ เพื่อลดปัญหาและความเสียหายต่อประโยชน์ของรัฐ อันเกิดจากการที่ผู้ประกอบการได้รับอนุญาตใช้สิทธิแห่งทางแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพื้นที่ก่อสร้าง จึงไม่สามารถดำเนินการได้แม้ว่ามีการลงนามในสัญญาว่าจ้างก่อสร้างแล้วก็ตาม
ต่อมา เมื่อวันที่ 13 ส.ค.2563 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีศึกษาโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสนอ และให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย (กรุงเทพมหานคร) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการ
ในเรื่องดังกล่าวเป็นไปตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติต่อไป โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติไปพิจารณาประกอบการดำเนินการด้วย