การแสดงจุดยืนทางการเมือง หรือ การตอบโต้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่ใช่การตอบโต้ระหว่างบุคคลที่อยู่ในโซเชียลมีเดีย และไม่ใช่แค่ข้ออ้างว่าเป็น "เหตุผลส่วนตัว" แต่พฤติกรรมเหล่านี้อาจส่งผลต่อสถานะในโลกแห่งความเป็นจริงด้วย
ม้า อรนภา หรือ อรนภา กฤษฎี พิธีกรชื่อดัง เป็นตัวอย่างหนึ่ง ของการใช้ถ้อยคำแสดงความเห็นผ่านอินสตาแกรม ซึ่งต่อมามีผู้แสดงความคิดเป็นเชิงลบเป็นจำนวนมาก จน ม้า อรนภา ต้องออกจากการเป็นพิธีกรรายการ "ข่าวใส่ไข่" ที่ออกอากาศทางช่องไทยรัฐทีวี
กรณีนี้เริ่มจาก ม้า อรนภา โพสต์อินสตาแกรม ว่า "นอน...อยู่บ้านไป ไม่ต้องมาเรียน เด็กเปรต" ซึ่งเป็นการใช้ถ้อยคำหยาบคาย เพื่อเสียดสีและไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมของนักศึกษา ซึ่งมีผู้คนมาแสดงความต่อโพสต์นี้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการตำหนิพิธีกรคนนี้ ที่ไม่เลือกใช้เหตุผล แต่เลือกการเสียดสี จนนำไปสู่เทรนทวิตเตอร์ #ม้าอรนภา รณรงค์แบนสินค้าที่สนับสนุนรายการที่ ม้า อรนภา เป็นพิธีกร
ล่าสุด ม้า อรนภา ยังตอบคอมเมนท์ที่มีผู้ถามว่า ม้า อรนภา จะไม่จัดรายการ "3แซ่บ" ซึ่งออกอากาศทางช่อง 3 โดย ม้า อรนภา ตอบสั้นๆ ว่า "ค่ะ"
ศิลปิน ดารา บุคคลมีชื่อเสียง ถูกสังคมกดดัน ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้น แต่ละกรณีอาจต้องจำแนกทั้งจุดยืนทางการเมือง การใช้ถ้อยคำเหยียดหยาม หรืออาจมีทั้ง 2 ประเด็นเชื่อมโยงกัน
16 เม.ย.2563 มีผู้ใช้อินสตาแกรม โพสต์ข้อความไปยังอินสตาแกรมของ โจ นูโว หรือ จิรายุส วรรธนะสิน นักร้องและนักแสดง ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับความลำบากในการทำงานช่วงโควิด-19 ช่วงหนึ่งระบุว่า "ถ้ารัฐบาลไม่สามารถเยียวยาได้ทั่วถึง ได้ฆ่าตัวตายหนีหนี้กันแน่ๆ"
โจ นูโว ตอบว่า "ตายได้ก็ตายเลยครับ มันเป็นเรื่องต้องช่วยตัวเองธรรมชาติจะคัดสรร ผู้ที่รอดสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ทฤษฎีชาร์ส ดาร์วิน ครับ" ซึ่งการตอบลักษณะนี้ทำให้มีกระแสตอบรับในเชิงลบ โดยเฉพาะกลุ่มแฟนคลับที่ติดตามอินสตาแกรม
นอกจากนี้ โจ นูโว ยังเคยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ในช่วงโควิด-19 ช่วงหนึ่งว่า "ถึงจุดนี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่เคยเจอความรุนแรงแบบนี้ ลาออกกันไปเยอะครับ บางคนก็เอาของกลับบ้านก็มี เขาเคยชินกับการทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม ในเชิงรุกตัวใครตัวมัน โลกเสรีน้ำใจไม่ค่อยมีครับ"
อย่างไรก็ตามกรณีของ โจ นูโว ไม่มีการรณรงค์ให้เลิกใช้สินค้าที่สนับสนุนรายการที่ โจ นูโว เป็นพิธีกร หรือละครที่ร่วมแสดง แต่ โจ นูโว แจ้งความผู้มาคอมเมนท์ที่ใช้ถ้อยคำหยาบคายแทน
ฟลุค เดอะสตาร์ หรือ พชร ธรรมมล นักร้องและนักแสดง เป็นคนหนึ่งที่มีจุดยืนทางการเมืองชัดเจน และแสดงความคิดเห็นทางการเมืองผ่านโซเชียลหลายครั้ง
เช่น กรณีที่อิสตาแกรมของ a_adisorn ซึ่งโพสต์ #ดักตบอีช่อช่อง Arrival ...(ขอเผยแพร่ข้อความเพียงบางส่วนเพราะมีคำหยาบคายเป็นจำนวนมาก) ซึ่ง ทาทายัง หรือ อมิตา ยัง สีณพงศ์ภิภิธ ได้มาคอมเมนท์ว่า "รบกวนด้วยค่ะ"
ต่อมา ฟลุค เดอะสตาร์ ได้มาแสดงความเห็นต่อ ซึ่งมีสาระสำคัญไม่เห็นด้วยกับเผด็จการ และช่วงหนึ่งโพสต์ว่า "ถ้ารู้ตัวว่าเลิกสันดาน หรือแนวคิดเฉิมๆ แบบที่กล่าวมาไม่ได้ มิเช่นนั้นจะโดนกระหน่ำ"
ต้นปี 2563 ฟลุค เดอะสตาร์ ลาออกจากต้นสังกัด โดยระบุว่า ตนเองเป็นคนยื่นลาออก มีผู้ใหญ่ส่วนหนึ่งขอไกล่เกลี่ย แต่ก็มีผู้ใหญ่อีกส่วนหนึ่งที่ให้สัมภาษณ์ในเชิงลบทันทีที่ลาออก พร้อมกับโพสต์ภาพ บอย ถกลเกียรติ หรือ ถกลเกียรติ วีรวรรณ ผู้ก่อตั้งรายการเดอะสตาร์ ระหว่างร่วมชุมนุม กปปส. ปี 2557
ต่อมา ฟลุค เดอะสตาร์ ได้ฟอร์มวงดนตรีของตนเองขึ้นมาใหม่ แต่ประสบปัญหาการทำงานในช่วงโควิด-19 ระบาด อย่างไรก็ตาม ปี 2558 ฟลุค เดอะสตาร์ เคยโพสต์ข้อความร่วมบริจาคเงินเพื่อช่วย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะที่ ทรงวุฒิ รมยะพันธุ์ พ่อของฟลุค เดอะสตาร์ ซึ่งเป็นผู้ชุมนุม กปปส. ประกาศตัดพ่อตัดลูก
สุภิญญา กลางณรงค์ อดีต กสทช. เคยให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอส ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา แต่เป็นหัวข้อเกี่ยวกับจรรยาบรรณสื่อในช่วงที่มีการวิจารณ์รายการผีและรายการข่าว ซึ่ง สุภิญญา เสนอทางออก 3 ข้อ คือ 1.รัฐและ กสทช. ต้องช่วยจัดการมากกว่านี้ 2.สื่อต้องตรวจสอบกันเอง ไม่ใช่ให้สื่อที่ไม่ล้ำเส้น นั่งดูช่องที่ล้ำเส้นโกย Rating และ 3. คนดูต้องกดดันไปยังสินค้าและเอเจนซี่โฆษณา เพื่อส่งแรงกดดันไปยังสื่อ
ในประเด็นท้าย สุภิญญา ยกตัวอย่างของสหรัฐฯ ที่ผู้ชุมนุมต่อต้านการเหยีดสีผิว ร่วมกันแบนสินค้าที่สนับสนุนเฟซบุ๊ก เพื่อกดดันให้เฟซบุ๊กช่วยคัดกรองข้อความที่ส่งเสริมการเหยียดสีผิว
"มีการกดดันสื่อสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ให้ช่วยกำกับข้อความเหยียดผิวไม่ให้แพร่กระจาย มีการแบนสินค้าแบรนด์ใหญ่ๆ ไม่ให้ลงโฆษณาในเฟซบุ๊ก สั่นสะเทือนมากเลย"
เมืองไทยถ้าให้เกิดผลจริงๆ ต้องกดดันไปที่โฆษณา สื่อล้ำเส้นไม่กลัว กสทช. อย่างมากก็โดนด่า โดนปรับ แต่ที่กลัวที่สุดคือกระเป๋า
ณ เวลาที่สัมภาษณ์ สุภิญญา เราเห็นปรากฏการณ์ที่สหรัฐฯ เป็นสิ่งที่ไกลตัว แต่จากนั้นไม่ถึง 1 เดือน มีปรากฏการณ์นี้ในสังคมไทย เช่น ผู้ใช้โซเชียล รณรงค์ให้แบนสินค้าที่สนับสนุนช่องเนชั่นทีวี หลังมีผู้สื่อข่าวอ้างเป็นนักข่าวช่องอื่นไปสัมภาษณ์ผู้ชุมนุม แม้มีการขอโทษจากต้นสังกัดและผู้บริหาร แต่แรงกดดันไม่ได้ลดลง จนทำให้สินค้าหลายแบรนด์เลือกถอนสปอนเซอร์
ล่าสุด คือ กรณี ม้า อรนภา ที่ถอนตัวจากการเป็นพิธีกรรายการ 2 ช่อง และวันนี้ (25 ส.ค.63) มี #เหมี่ยวปวันรัตน์ ติดเทรนทวิตเตอร์ เพื่อกดดันการทำงานพิธีกรของ เหมี่ยว ปวันรัตน์ หลังจากผู้ใช้โซเชียลค้นประวัติพบว่าเคยแสดงความและแสดงจุดยืนทางการเมืองหลายครั้ง
การใช้ถ้อยคำแสดงความเห็นในโซเชียลมีเดีย ปัจจุบันไม่ใช่แค่การใช้ข้อความในโลกเสมือน แต่เป็นโลกจริงที่ผู้ใช้ถ้อยคำต้องรับผิดชอบกับถ้อยคำและความเห็นเหล่านั้น โดยเฉพาะการใช้ถ้อยคำหยาบคาย จุดยืนทางการเมือง หรือยิ่งเชื่อมโยงทั้งสองประเด็นนี้เข้าด้วยกัน ก็ยิ่งทำให้ผลลัพท์มีความรุนแรงในความเป็นจริง