ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อ้าง “หลีเป๊ะ” ไม่มีใบอนุญาต งดร่วมเยียวยา COVID แต่ยังเก็บภาษี

สังคม
27 ส.ค. 63
13:53
948
Logo Thai PBS
อ้าง “หลีเป๊ะ” ไม่มีใบอนุญาต งดร่วมเยียวยา COVID แต่ยังเก็บภาษี
โครงการกระตุ้นการท่องเที่ยว ทั้งโครงการกำลังใจ หรือโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ไม่ต่างกัน แต่เสียงสะท้อนของ ผู้ประกอบการบางกลุ่มก็ถูกเลือกปฏิบัติ ด้วยข้ออ้างของรัฐ ขณะที่เมื่อถึงเวลาเก็บภาษีกลับปฏิบัติเหมือนกัน

บอกตรงๆ พี่ไม่มั่นใจเลย กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ต่อให้เดินผ่านเครื่องเทอร์โมสแกน ไม่มีไข้ ถามจริงๆ ใบรับรองแพทย์ซื้อไม่ได้หรือ ถ้าเถียงว่า ซื้อไม่ได้ พี่จะพาไปซื้อเลย

คนอยากเที่ยวมีเยอะ แต่เรื่องความปลอดภัยยังไม่มี พี่จึงไม่มั่นใจ ถ้ารีสอร์ทพี่มีลูกค้าติดเชื้อสักคนหนึ่ง ก็ต้องปิดรีสอร์ท ไม่รู้นานเท่าไหร่ พี่ก็ไม่อยากเสี่ยง

เสียงสะท้อนของ วีรภัทรา นิลมา ผู้ประกอบการรีสอร์ทบนเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ถึงมาตรการที่รัฐเตรียมเปิดให้ชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในประเทศ และคาดว่าอีก 2 ปี การท่องเที่ยวจึงจะกลับมาเป็นปกติ

 

เธอยอมรับว่า เกาะหลีเป๊ะสามารถอยู่ได้ด้วยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แต่เมื่อสถานการณ์โรคระบาดไวรัส COVID-19 เกิดขึ้น นักท่องเที่ยวชาวไทยจึงเป็นกลุ่มลูกค้าที่พวกเขาตั้งความหวัง และเชื่อว่าจะช่วยพยุงให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวบนเกาะมีรายได้เช่นกัน จึงจัดแพคเกจ ลดราคา ห้องพักและอาหาร เพื่อเอาใจคนไทยนักเที่ยว

เธอสะท้อนว่า ผู้ประกอบการที่พักและรีสอร์ทบนเกาะหลีเป๊ะ ต่างประสบปัญหา ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ตามโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ทั้งโครงการกำลังใจ หรือโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ทั้งที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ไม่ต่างกัน

 

เกาะหลีเป๊ะทั้งเกาะไม่มีโรงแรมไหนถูกต้อง มีการจดทะเบียนพาณิชย์ คุณบอกว่าไม่ถูกต้อง เข้าร่วมโครงการไม่ได้ แต่ทำไมคุณยังเก็บภาษี ไม่ลดภาษี แถมเก็บตรงเป๊ะด้วย ทำให้เรารู้สึกว่ามันไม่แฟร์

คนอยากเที่ยวหลีเป๊ะเยอะ แต่เมื่อเราไม่ได้เข้าร่วมโครงการ เขาก็ไปเที่ยวที่อื่นที่ร่วมโครงการ ทำให้เราเสียโอกาสตรงนี้ ถ้าเราได้ร่วมโครงการ แต่ลูกค้าไม่เลือกเราก็ไม่ว่า อย่างน้อยทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ถูกทอดทิ้งและได้รับความช่วยเหลืออย่างเท่าเทียม

 

ขณะที่บรรยากาศบนถนนคนเดิน กลางเกาะหลีเป๊ะ ที่เป็นจุดรวมพลสำหรับนักท่องเที่ยวตลอดทั้งหน้าไฮล์หรือโลว์ซีซั่น ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม ที่เปิดเกาะให้ท่องเที่ยวอีกครั้งกลับมีผู้ประกอบการร้านค้าไม่กี่เจ้าที่เปิดร้านตามปกติ

บางร้านติดป้ายเซ้ง ขาย เพราะสู้ราคาค่าเช่าไม่ไหว เช่นเดียวกับโรงแรม รีสอร์ทบางแห่งที่เลือกปิดบริการไปก่อน เพื่อลดค่าใช้จ่าย ทั้งค่าแรง ค่าน้ำ ค่าไฟ ที่เป็นต้นทุนทั้งหมด เพราะไม่คุ้มกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามา และจะรอเปิดบริการอีกครั้งในเดือนตุลาคมนี้

“ช่วงโควิดนี่สาหัสจริงๆ ต้องให้ลูกน้องเอาอวน เอาเบ็ด ออกเรือไปหากินกันเอง เพราะไม่มีเรือเข้า ออก พี่ไม่คิดว่าโควิดมันจะกระทบตั้งแต่เดือนมีนาคม ปกติเป็นช่วงพีคของเรา ก็ถือว่าสาหัสจริงๆ"

ทำรีสอร์ททั้งชีวิตไม่เคยเจอแบบนี้มาก่อน พอได้ยินข่าวที่ระยอง พี่ขนลุกมาก ทุกวันนี้ต้องพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์

 

ขออย่าให้ระลอก 2 เข้ามา เพราะพี่คงพยุงไม่ไหวแล้วเหมือนกัน ที่ผ่านมาพี่จึงประเมินไม่ให้ผ่านกับการบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ แต่ยอมรับการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ทั้ง หมอ พยาบาลและ อสม.

ขณะนี้ต้องเปิดให้บริการอีกครั้ง เพื่อนำรายได้เลี้ยงพนักงานกว่า 30 ชีวิต โดยจ่ายค่าแรงครึ่งหนึ่ง ให้ที่พักและอาหารทุกมื้อ จึงจะอยู่ได้ เพราะทุกคนเข้าใจสถานการณ์ดี

 

ขณะที่แรงงานบนเกาะกว่า 4,000 คน ทั้งชาวไทยและแรงงานข้ามชาติ ส่วนใหญ่ถูกเลิกจ้างชั่วคราว และเลือกขึ้นฝั่ง เพื่อลดค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน จึงทำได้เพียงรอให้นายจ้างเรียกตัวกลับเข้าทำงานอีกครั้ง หากสถานการณ์ดีขึ้น

ภัสรา จิกคำ รายงาน
สุกรี บินศุภอรรถ ถ่ายภาพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง