ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ป.ป.ช.-ศธ.-อว." ประกาศร่วมป้องกันทุจริต

การเมือง
31 ส.ค. 63
15:10
247
Logo Thai PBS
"ป.ป.ช.-ศธ.-อว." ประกาศร่วมป้องกันทุจริต
สำนักงาน ป.ป.ช. กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษาฯ นำร่องร่วมประกาศเจตนารมณ์ป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนรวม หวังลดเรื่องร้องเรียนและเพิ่มดัชนีรับรู้ทุจริต

วันนี้ (31 ส.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดกิจกรรม "ประกาศเจตนารมณ์ในการป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม" ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

โดยนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช.ร่วมกับ น.ส.ชฏารัตน์ สิงหเดชากุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้แทนปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้แทนปลัดกระทรวงอุดมศึกษาฯ ผู้แทนเลขาธิการสภาการศึกษา ผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการการสึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา ได้เป็นตัวแทนหน่วยงานในการประกาศเจตนารมณ์ในการป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม

ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวจะเป็นหน่วยงานนำร่องในการแก้ปัญหาการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม โดยให้ส่วนราชการเหล่านี้นำไปปฏิบัติในหน่วยงานต่อไป เพื่อให้เรื่องกล่าวหาร้องเรียนกรณีฝ่าฝืนกฎหมายการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 จะลดลง หรือไม่เกิดขึ้นเลย

 

หวังช่วยยกระดับคะแนน CPI ของไทย

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ กล่าวมอบนโยบายตอนหนึ่งว่า หากเกิดการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมเมื่อใด ในบั้นปลายมักจะนำไปสู่การทุจริตรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเสมอ ที่ผ่านมามีการผลักดันทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อไม่ให้เกิดการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม เพื่อให้เกิดการแยกแยะประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม

ทั้งนี้ ไทยได้กำหนดการป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ในกฎหมาย 2 ฉบับ คือรัฐธรรมนูญ หมวด 9 ที่บังคับใช้กับ คณะรัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หมวด 6 ที่บังคับใช้กับเจ้าหน้าที่รัฐทั่วไป โดยความสำคัญของการต่อต้านการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม จะช่วยยกระดับผลคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต หรือ CPI ของประเทศไทยด้วย

พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า เชื่อว่าหากบุคลากรทุกภาคส่วนมีความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของการแยกแยะระหว่างแยกแยะประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม และร่วมกันทำให้การทุจริตคอร์รัปชันลดลง ก็จะนำไปสู่การยกระดับค่า CPI ของไทย รวมทั้งนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในที่สุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง