ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สว.เสียงแตกไม่รับร่างแก้รธน.ทั้งฉบับ เตรียมเคลียร์ 9 ก.ย.

การเมือง
2 ก.ย. 63
16:52
4,745
Logo Thai PBS
สว.เสียงแตกไม่รับร่างแก้รธน.ทั้งฉบับ เตรียมเคลียร์  9 ก.ย.
วุฒิสมาชิกเสียงแตกไม่รับร่างแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ วิปวุฒิฯ เตรียมเรียกเคลียร์ วันที่ 9 ก.ย.นี้

วันนี้ (2 ก.ย.2563) นายวันชัย สอนศิริ เลขานุการคณะกรรมาธิการกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) กล่าวถึงท่าทีของวุฒิสภา ในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากพรรคร่วมรัฐบาลได้ยื่นเสนอญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญในส่วนของรัฐบาลต่อประธานสภาแล้วว่า หลังจากนี้ วิปวุฒิฯ จะนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้าน และรัฐบาลมาคุยกันในวันที่ 9 ก.ย.นี้ ซึ่งขณะได้มีการจัดส่งร่างทั้ง 2 ฉบับ ให้ ส.ว.ทุกคนได้อ่าน และทำความเข้าใจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ในการประชุมรัฐสภา ทาง ส.ว.ก็การพูดคุยมีหลายกลุ่ม ซึ่งความคิดแตกต่างกันหลายรูปแบบ บางฝ่ายเห็นว่าควรรับ บางฝ่ายก็เห็นว่า ควรแก้เป็นรายมาตรา แต่แก้รายมาตราขณะนี้ ยังไม่มีใครเสนอ

เท่าที่ฟัง เสียงที่ค้านเห็นว่า ไม่ควรแก้ไม่ค่อยมี เพียงวิธีการแก้ที่ยังเห็นต่าง แต่สุดท้ายเชื่อว่า เมื่อคุยกันแล้วจะไปในทิศทางเดียวกันได้ เรื่องนี้ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกัน ยังมีเวลาเพราะเรามีแค่ 250 คน ต่างจากพรรคการเมืองที่มีหลายพรรค

อย่างไรก็ตาม ในหลักการขณะนี้ คือมีการตั้ง ส.ส.ร. แต่อาจจะต่างเรื่องจำนวน ที่มา และเรื่องระยะเวลา รวมทั้งจะเข้ารัฐสภา แล้วโหวต หรือลงประชามติก่อน เป็นเรื่องที่พูดคุยกันได้ เป็นความต่างในเรื่องเล็กๆ ที่ไม่ใช่ประเด็น

ทั้งนี้ยังไม่กล้ายืนยันว่า ส.ว.84 คน จะมีเสียงแตกหรือไม่ เพราะขณะนี้ยังไม่ตกผลึก ทางวิปวุฒิยังไม่ได้เรียกคุยกัน แต่เชื่อว่าทุกคนมองประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ

ด้าน นายสมชาย แสวงการ ที่ปรึกษาวิปวุฒิสภา และประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค ยืนยันว่า จะโหวตไม่เห็นด้วย และ สนับสนุนให้แก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา เท่าที่จำเป็น เพราะการเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เป็นรื้อทั้งหมด 279 มาตรา เหลือเพียง 24 เท่ากับแก้ 255 มาตรา แล้วจะมาบอกว่า ต้องการแก้เพียง 10 มาตรา

ถ้าแก้เท่านั้นจะมาตั้ง ส.ส.ร. มาเสียเวลาทำไม จะต้องใช้งบอีกกี่พันล้าน ที่จะนำมาใช้เป็นเงินเดือน ส.ส.ร. และเลือกตั้ง ส.ส.ร. ซึ่งใช้งบประมาณเท่ากับเลือกตั้ง ส.ส. และส.ว.

การมี ส.ส.ร.ไม่ใช่ว่าดีทั้งหมด เคยมีมาแล้วสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ ส.ส.ร.ใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญ 11 ปี หรืออย่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 คนเป็น ส.ส.ร. ยกร่างก็มาเป็นส.ส. เป็น ส.ว.เพราะไม่ได้เขียนห้ามไว้

นายสมชายกล่าวว่า ตนเป็นส.ว.ที่มีสิทธิในการลงมติ เห็นชอบ เป็น 1 ใน 84 เสียง ถ้ารัฐบาลเสนอแก้เป็นรายมาตรา ก็เป็น 1 ใน 84 ที่ยกมือให้ แต่เมื่อวานนี้ ยื่นไปแล้วเสนอแก้ทั้งฉบับ บอกเลยว่าไม่เห็นด้วย และจะโหวตไม่เห็นด้วย แล้วจะอภิปรายในการประชุมร่วมรัฐสภาด้วยว่า ตนสงสัยแทนประชาชน

จะถามตรงๆ ว่า ที่อยากแก้รัฐธรรมนูญ แก้ประเด็นไหน อย่ามาเหนียม คุณอย่ามาบอกว่า ร่างใหม่แล้วจะแก้ปัญหา แต่นี่คือแก้ปัญหาหนึ่งนำไปสู่ปัญหาใหม่ที่ใหญ่กว่า

เท่าที่รู้ประเด็นที่อยากแก้หลักๆ มีเพียง 1.เรื่องบัตรเลือกตั้ง ส.ส.ที่ยังตกลงไม่ได้ ว่า ใบเดียวหรือสองใบ 2.วุฒิสภาควรโหวตนายกฯ หรือไม่ ซึ่งไม่ขัดข้องให้ไปถามประชาชน ที่ลงประชามติก่อน 3.อยากแก้มาตรา 144 ที่ห้าม ครม. สส. สว. ยุ่งเกี่ยวงบประมาณแผ่นดิน และ 4.อยากยกเลิกพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมวิธีพิจารณาคดีอาญานักการเมือง เพราะจะต้องหายไปหากยกร่างใหม่ ซึ่งนั่นหมายความว่ารัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง จะหายไป

ทั้งนี้ ปกติแล้วการโหวตของวุฒิสภา ในแต่ละเรื่อง จะมีความคิดเห็นเป็นอิสระ แต่เท่าที่ฟังเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน

ส่วนเรื่องการล่า 50,000 รายชื่อ ปิดสวิตช์ ส.ว. ถือเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะเสนอได้ เราก็อยากเห็นประชาชนเสนอเข้ามา อาจจะยังมี 50,000 รายชื่อ ที่เสนอโดยกลุ่มเพกวิน และ 50,000 รายชื่อ ของกลุ่มหมอวงรค์ อีก ต้องถามทุกคนทุกฝ่าย ไม่ใช่จะถามคนฝ่ายเดียวไม่ได้

“ถ้าเป็นอย่างนี้ ประเทศชาติเดินต่อไปไม่ได้ อย่าไปงง อย่างไปหลงกับม็อบเสมือนจริง ข้อเรียกร้องสามารถทำได้ไม่ผิด แต่ข้อสนอง เป็นการสวมรอยหรือเปล่า ความจริงเรื่องนี้สามารถอธิบายกับเด็ก หรือพวกต้องการ มีปัญหากี่มาตราก็แก้ไป ไม่ใช่รื้อใหม่หมด”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง