วันนี้ (6 ก.ย.2563) นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 9 ให้สัมภาษณ์ว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข มอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา (สสจ.) ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง หลังจากได้รับร้องเรียนมีการแอบอ้างว่าสามารถช่วยเรื่องบรรจุข้าราชการด่านหน้าสู้ COVID-19 ในสำนักงานสาธารณสุขแห่งหนึ่ง โดยอ้างว่าเป็นโควต้ารัฐมนตรี เพื่อให้มีการบรรจุข้าราชการทันในรอบที่ 3
ผลการสอบพบว่า ผู้แอบอ้างคือนักวิชาการสาธารณสุข ที่จ.นครราชสีมา โดยมีการยื่นเสนอว่าสามารถช่วยให้พี่สาวของพยาบาลวิชาชีพประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล บรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ พร้อมกับข้าราชการที่บรรจุกรณี COVID-19 ช่วงเดือนก.ย.นี้ และจะให้ปฏิบัติราชการที่กลุ่มงานยาเสพติด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา
โดยอ้างว่าเป็นโควตาของรัฐมนตรี เป็นการโยงเอา 2 เหตุการณ์มารวมกันคือ การบรรจุเป็นข้าราชการตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ และการเปิดรับสมัครนักวิชาการสาธารณสุขของ สสจ.นครราชสีมา
ทั้งนี้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเสนอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง พร้อมแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน กรณีถูกแอบอ้างว่าสามารถให้บุคคลมาทำงานที่สสจ.นครราชสีมาได้ และยืนยันว่านครราชสีมา ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแอบอ้างนี้ โดยจะย้ายออกนอกพื้นที่ระหว่างการสอบสวน ส่วนผู้ให้ข้อมูลจะย้ายออกไปปฏิบัติราชการที่อื่น เพื่อความปลอดภัย
มีรายงานว่า กรณีดังกล่าวอ้างข้อมูลจากนายริซกี สาร๊ะ โฆษกสภาการสาธารณสุขชุมชน ที่ออกมาเผยว่า มีกระบวนการช่วยบรรจุข้าราชการรุ่น COVID-19 ทันในรอบที่ 3 เดือนก.ย.นี้ โดยอ้างว่าเป็นโควตา รมว.สาธารณสุข แต่มีค่าใช้จ่าย 550,000 บาท ต้องจ่ายก่อน 150,000-200,000 บาท ส่วนที่เหลือคำสั่งบรรจุออกมาค่อยจ่าย
สำหรับการบรรจุเป็นข้าราชการรุ่น COVID-19 สัดส่วนของโรงพยาบาลรพ.สต.จะดำเนินการในรอบที่ 3 จำนวน 7,000 ตำแหน่ง ส่วนรอบที่ 2 จะเป็นสายสนับสนุน จำนวน 5,000 ตำแหน่ง รวมเป็น 1.2 หมื่นตำแหน่ง โดยทั้งรอบ 2-3 จะดำเนินการให้แล้วเสร็จพร้อมกันภายในปีงบประมาณ 2563