วันนี้ (11 ก.ย.2563) กรมทรัพยากรธรณีระบุว่าจากกรณีข่าวในสังคมและสื่อออนไลน์ เรื่อง “หินนิ้วมือ” ที่เกาะคอเขา หมู่ 2 บ้านนอกนา อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา สำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 4 โดยนายปรัชญา บำรุงสงฆ์ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี และคณะ ได้ประสานงานร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดพังงา และหน่วยงานในท้องถิ่นเพื่อร่วมเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง
ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี
ผลจากการตรวจสอบพบว่า หินที่มีลักษณะรูปร่างคล้ายนิ้วมือ มีเล็บติด สีขาว ขนาดกว้างยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร สามารถยืนยันได้ว่า “หินนิ้วมือ” เป็นกรวดชนิดแร่ควอตซ์ (Quartz) สีขาว สะสมตัวแบบทุติยภูมิในหินตะกอนชนิดหินทรายเนื้อปนกรวด (gravelly - pebbly sandstone) หมวดหินเกาะเฮ กลุ่มหินแก่งกระจาน ยุคเพอร์เมียน
ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี
โดยกรวดที่พบในหินทรายประกอบด้วย แร่ควอตซ์ แร่เฟลด์สปาร์ หินทรายแป้ง และหินแกรนิต เป็นต้น ในพื้นที่โดยรอบสามารถพบกรวดที่มีลักษณะตามธรรมชาติแบบต่าง ๆ ปะปนในเนื้อหินอยู่ทั่วไป
ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี
ทั้งนี้ “หินนิ้วมือ” ดังกล่าว คือ แร่ควอตซ์ สีขาว มีคุณสมบัติที่คงทนต่อการกัดกร่อนสูง และเกิดขึ้นเองโดยกระบวนการทางธรรมชาติ
พื้นที่ที่พบ “หินนิ้วมือ” มีความเหมาะสมสำหรับเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเรียนรู้ทางธรณีวิทยา เนื่องจากมีภูมิประเทศที่โดดเด่น และมีลักษณะธรณีวิทยาที่น่าสนใจ สำหรับการศึกษา สำรวจ และค้นหาเพิ่มเติม
ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี