ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

บอร์ด กทพ.ลุ้นศาลตัดสินข้อร้องเรียน “ทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง”

เศรษฐกิจ
15 ก.ย. 63
15:16
701
Logo Thai PBS
บอร์ด กทพ.ลุ้นศาลตัดสินข้อร้องเรียน “ทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง”
บอร์ด กทพ.ลุ้นคำสั่งศาลตัดสินข้อร้องเรียน “ทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง” สัญญา 1-3 ลั่นเดินให้สุดทางก่อนตัดสินใจล้มประมูล ไฟเขียวปิดบัญชี “กทพ.-BEM” แบบไม่เป็นหนี้ ก้าวสู่การเริ่มต้นใหม่ คาดปีนี้คว้ากำไร 5 พันล้าน ลดจากปีก่อน หลัง COVID-19 ฉุดผู้ใช้ทางหาย 50%

วันนี้ (15 ก.ย.2563) นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ด กทพ. วานนี้ (14 ก.ย.) มีการรายงานความคืบหน้าการดำเนินการโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร จำนวน 5 สัญญา โดยสัญญาที่ 1 งานโยธาก่อสร้างทางยกระดับจากแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เซ็นทรัลพระราม 2 ระยะทาง 6.4 กิโลเมตร ซึ่งมีกิจการร่วมค้า CNA เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดที่ 5,897 ล้านบาทนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างรอคำวินิจฉัยของของศาล เพื่อพิจารณาการตีความและให้เป็นไปตามคำนิยามของกรมบัญชีกลางอย่างชัดเจนใน 2 ประเด็น คือ มูลค่าของสัญญาว่านับมูลค่าจากองค์ประกอบใดบ้าง และ 2.โครงการและประสบการณ์ที่นำเสนอเพื่อประกอบการพิจารณา สามารถใช้ได้หรือไม่ เนื่องจากกรมบัญชีกลางได้ระบุว่าจะต้องเป็นโครงการที่ดำเนินการสำเร็จแล้ว

ส่วนสัญญาที่ 3 งานโยธาก่อสร้างทางยกระดับจากโรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล-ด่านดาวคะนอง ระยะทาง 5 กิโลเมตร ตามที่ กทพ.ได้ประกาศยกเลิกผลการประกวดราคา จากเดิมให้กิจการร่วมค้าไชน่าเรลเวย์-ซีวิล-บุญชัย ในฐานะผู้ชนะการประมูลที่เสนอราคาต่ำสุด ราคา 6,098 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนของการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดว่าจะรับคำแย้งหรือไม่ ซึ่ง กทพ.ได้ทำคำแย้งและนำเสนอข้อมูลส่งไปให้ศาลแล้ว

ทั้งนี้ เมื่อได้ข้อสรุปแล้วนั้น กทพ.จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป เช่น การเจรจากับผู้เสนอราคาต่ำสุดรายต่อ ๆ ไปว่าผ่านคุณสมบัติหรือไม่ และหากไม่มีรายได้ผ่านคุณสมบัติก็อาจนำไปสู่การเปิดประมูลใหม่ อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่าจะได้ข้อสรุปเมื่อไหร่นั้น ยังให้คำตอบไม่ได้ แต่ต้องการให้การตัดสินใจมีความชัดเจนและรวดเร็ว เนื่องจากโครงการมีความล่าช้ามากแล้ว

นอกจากนี้ที่ประชุมบอร์ด กทพ. ยังมีมติอนุมัติการลงบัญชีผลประกอบการของ กทพ.แบบไม่เป็นหนี้ ตามคำนิยามของสภาวิชาชีพบัญชี ในประเด็นข้อสงสัยเรื่องข้อยุติข้อพิพาทระหว่าง กทพ. และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 1.37 แสนล้านบาท แลกกับสัมปทาน 15 ปี 8 เดือนที่ต้องลงบัญชีความเป็นหนี้หรือไม่ ซึ่งบอร์ดพิจารณาแล้วเห็นว่า ยังไม่ได้อยู่ในสถานะหรือสภาพความเป็นหนี้ จึงอนุมัติให้ลงบัญชีแบบไม่เป็นหนี้ได้ ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งทำให้ กทพ.สามารถปิดความเสี่ยงความเป็นหนี้ทั้งหมดได้

ส่วนกรณีการลงบัญชีความหนี้ตั้งแต่ปี 2561 ที่ กทพ.แพ้คดีสร้างทางแข่งขันกับ BEM มูลค่า 4,200 ล้านบาทนั้น ก็ไม่ต้องลงบัญชีความเป็นหนี้เช่นกัน เนื่องจากข้อพิพาทจบทุกกรณีแล้ว ดังนั้น จากนี้ไปจะมีการลงบัญชีส่วนนี้ คืนเป็นรายได้ให้ กทพ.เฉลี่ยตามอายุสัญญาสัมปทานใหม่ 15 ปี 8 เดือน หรือปีละประมาณ 300 ล้านบาท

ทั้งนี้ ถือเป็นประโยชน์ต่อ กทพ.ที่จะทำให้มีบัญชีที่เป็นรายได้กลับคืนมา ส่วนคดีความระหว่าง กทพ. กับ BEM ยังมีเหลือค้างอยู่อีก 1 คดี อยู่ระหว่างการรอศาลตัดสิน หากศาลยกฟ้องก็ถือว่าคดีจบปิดเรื่องได้ ซึ่งที่ผ่านมาติดสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 จึงล่าช้า ทั้งนี้ คาดว่าจะได้ข้อยุติในเร็วๆ นี้ โดยหลังจากนี้ถือเป็นการเริ่มต้นใหม่ของ กทพ. กับ BEM และถือว่าเป็นจังหวะที่ดี ซึ่งคาดการณ์ว่าปีนี้ กทพ. จะมีกำไรประมาณ 5,000 ล้านบาท ลดลงจากปีที่แล้วแต่ไม่เยอะ เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา ปริมาณการจราจรผู้ใช้บริการลดลงประมาณ 50% อย่างไรก็ตาม ยังถือว่าอยู่ในสภาพทางการเงินที่แข็งแกร่ง สามารถนำส่งเงินให้กับรัฐได้เพิ่มขึ้น

นายสุรงค์ กล่าวว่า ในส่วนของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) นั้น ยังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีปัญหาการบริหารเงิน เนื่องจากยังไม่ได้นำมาใช้ ทำให้ต้องเสียดอกเบี้ยส่วนต่างอยู่ประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อปี โดยดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ กทพ.ได้เพียงร้อยละ 1.6 ต่อปีเท่านั้น ทำให้ส่วนต่างของดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายคืนผู้ลงทุนยังติดลบ ซึ่ง กทพ.อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาแก้ระเบียบข้อบังคับของเงินกองทุน TFF เพื่อให้สามารถนำไปซื้อกองทุนหรือพันธบัตรรัฐบาลอื่นๆ ได้ หรือให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ของรัฐ เช่น กรุงไทย เข้ามาบริหาร เพื่อให้ได้ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเพียงพอกับที่จะต้องจ่ายส่วนต่างให้กับผู้ลงทุน

โดยที่ประชุมบอร์ด กทพ. จึงสั่งการให้นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ.เร่งดำเนินโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก และส่วนทดแทนตอน N1 ให้จบโดยเร็วเพื่อประโยชน์ของประชาชน รวมถึงให้เร่งดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมเรื่องการบริหารจราจรทั้งระบบ และสามารถนำเงินกองทุน TFF ออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์

นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ด กทพ. ยังได้สั่งการให้ผู้ว่าการ กทพ. เร่งพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรด้านบุคลากร รวมถึงดูและเรื่องปรับโครงสร้างองค์กร เนื่องจากบุคลากรยังไม่เพียงพอเพื่อรองรับการบริหารงานได้ทัน จึงอาจจะต้องหาบุคคลภายนอกเข้ามามาทำงาน โดยเฉพาะตำแหน่งระดับรองผู้ว่าการ กทพ. และตำแหน่งอื่นๆ เท่าที่จำเป็นเท่านั้น

ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างใหม่ของ กทพ. นั้น เพื่อลดช่วงเวลาในการครองตำแหน่งลง และให้เกิดการพัฒนาเพิ่มขึ้น รวมถึงให้เพิ่มหน่วยงานบริหารสินทรัพย์ เพื่อบริหารจัดการและสร้างรายได้ให้ กทพ.อีกด้วย

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง