วานนี้ (16 ก.ย.2563) นพ.สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากสถานการณ์ในปัจจุบันปัญหาเกมออนไลน์ และการติดเกมเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงในสังคมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน สำหรับในประเทศไทยจากการสำรวจของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ในปี 2556 พบว่า มีเด็กติดเกมมากถึง 2.5 ล้านคน จากจำนวนเด็ก 18 ล้านคนทั่วประเทศ และในปีงบประมาณ 2560 พบว่าปัญหาพฤติกรรมเสพติดเกมส่วนใหญ่ เป็นปัญหาสุขภาพจิตที่พบในเด็กวัยเรียนและวัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 6-18 ปี ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชนิดของเกม อาทิ เกมประเภท First Personal Shooting, MOBA และ SPORTS game competition เป็นหลัก
โดยเฉลี่ยเด็กและวัยรุ่นใช้เวลาเล่นเกมนาน 5 ชั่วโมงต่อวัน และเล่นเกมแข่งขันต่อสู้ออนไลน์ 1-4 เกมสลับกันไป
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ประกาศเจตนารมณ์คุ้มครองเยาวชน ป้องกันและแก้ไขปัญหาติดเกมของเยาวชนกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มติดเกม มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานดำเนินการคุ้มครองเยาวชน ป้องกันและแก้ไขปัญหาติดเกม โดยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อให้สังคมไทยเตรียมความพร้อมรับมือกับโรคติดเกม ที่จะส่งผลกระทบต่อสมอง พัฒนาการและพฤติกรรมของเด็ก สร้างระบบเฝ้าระวังและช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาให้เข้าถึงบริการ
พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า กรมสุขภาพจิต มีเป้าหมายที่จะยกระดับการดำเนินงานสุขภาพจิตวัยรุ่นและเยาวชน และส่งเสริมความรอบรู้ และสร้างความตระหนักถึงผลกระทบเกี่ยวกับเกมออนไลน์ และการติดเกมให้แก่วัยรุ่นและเยาวชน รวมทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลเด็กและเยาวชน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
สัญญาณเตือน "เด็กติดเกม" แนะรักษาก่อนสาย
ตะลึง!! พบเด็กติดเกมพุ่ง 1.5 เท่า อายุลดต่ำเหลือแค่ 5 ขวบ
เช็กด่วน! 10 พฤติกรรมสุขภาพคนไทยน่าจับตาปี 63