วันนี้ (17 ก.ย.2563) นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า จากกรณีไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ จ.นครศรีศรีธรรมราช สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีผู้นิยมสักการะเพื่อขอโชคลาภที่โด่งดัง และมีข้อถกเถียงและเรียกร้องสิทธิ์ในผลงานลิขสิทธิ์ “ไอ้ไข่” เด็กวัดเจดีย์ เนื่องจากปัจจุบันมีบุคคลอ้างชื่อไอ้ไข่ไปเปิดเป็นวัดไอ้ไข่สาขาต่างๆ และจัดทำวัตถุให้เช่าบูชา เบื้องต้นได้รับแจ้งจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่า วัดเจดีย์แจ้งผลงานลิขสิทธิ์ “ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์” กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาทั้งสิ้น 11 ผลงาน โดยแจ้งเมื่อปี 2551 จำนวน 10 ผลงาน และแจ้งเพิ่มอีก 1 ผลงาน เมื่อปี 2563
ยินดีให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ย และระงับข้อพิพาทด้านทรัพย์สินทางปัญญา
จดลิขสิทธิ์ 11 ผลงาน
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า จากฐานข้อมูลลิขสิทธิ์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ระบุว่า วัดเจดีย์แจ้งผลงานเกี่ยวกับไอ้ไข่แล้วทั้งสิ้น 11 ผลงาน โดยแจ้งเมื่อปี 2551 จำนวน 10 ผลงาน ได้แก่ ผ้ายันต์ 4 ผลงาน แจ้งเป็นศิลปกรรมประเภทงานจิตรกรรม รูปหล่อ 3 ผลงาน และเหรียญ 3 ผลงาน แจ้งเป็นศิลปกรรมประเภทงานประติมากรรม และล่าสุดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ในปี 2563 เพิ่มอีก 1 ผลงาน ในประเภทงานวรรณกรรม หนังสือไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์
ตามหลักกฎหมายลิขสิทธิ์จะให้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ในการทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน ให้เช่า โอน หรืออนุญาตให้ผู้อื่นใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ โดยไม่ได้รับอนุญาตจึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
นอกจากนี้ ผลงานลิขสิทธิ์จะได้รับความคุ้มครองทันทีเมื่อสร้างสรรค์ผลงานแล้วเสร็จโดยไม่ต้องจดทะเบียนหรือแจ้งข้อมูล และการรับแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็มิได้เป็นการรับรองว่าผู้แจ้งข้อมูลเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ แต่เป็นเพียงการรวบรวมข้อมูลลิขสิทธิ์ไว้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการตรวจสอบและใช้ประโยชน์เมื่อต้องการขออนุญาตใช้งานอันมีลิขสิทธิ์เท่านั้น
คุ้มครองลิขสิทธิ์ 50 ปี
โดยผู้แจ้งต้องรับรองตนเองว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานที่รับแจ้งนั้นด้วย ซึ่งในกรณีไอ้ไข่ ที่แจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์โดยวัดเจดีย์ในฐานะเป็นนิติบุคคล หากเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตามที่รับแจ้งก็จะได้รับการคุ้มครองงานลิขสิทธิ์เป็นเวลา 50 ปีนับแต่สร้างสรรค์ผลงาน
ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวจะเข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่อาจจะต้องพิจารณารายละเอียด เนื่องจากแต่ละกรณีจะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่จะต้องนำมาพิจารณาแตกต่างกันไป และหากมีการฟ้องร้องจะต้องนำสืบข้อเท็จจริงจากทั้งสองฝ่าย โดยศาลจะเป็นผู้พิจารณาชี้ขาดต่อไป อย่างไรก็ดี กรมทรัพย์สินทางปัญญามีบริการไกล่เกลี่ยและระงับข้อพิพาทด้านทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเป็นอีกทางเลือกในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาท และยุติปัญหาโดยไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการของศาล โดยรายละเอียดสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ www.ipthailand.go.th