ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วิเคราะห์ ความเสี่ยงเคลื่อนขบวนไปทำเนียบฯ

การเมือง
19 ก.ย. 63
20:18
711
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ ความเสี่ยงเคลื่อนขบวนไปทำเนียบฯ
นักวิชาการวิเคราะห์ ความเสี่ยงการเคลื่อนขบวนของกลุ่มผู้ชุมนุมจากบริเวณท้องสนามหลวงไปยังทำเนียบรัฐบาล พรุ่งนี้ ( 20 ก.ย.63)

เมื่อพิจารณาเส้นทางการเคลื่อนของผู้ชุมนุมที่อาจจะเป็นไปได้ในวันพรุ่งนี้ (20 ก.ย.63) จากบริเวณสนามหลวง เข้ามาในถนนราชดำเนินในผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผ่านสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ก่อนหน้านี้ตำรวจเคยระบุว่า จะตั้งจุดสกัด ถ้าไม่สกัดหรือผู้ชุมนุมฝ่าเข้าไปในถนนราชดำเนินนอกจนถึงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ด้านขวามือเป็นทำเนียบรัฐบาล ตำรวจเคยบอกว่าจะตั้งจุดสกัดไม่ให้เข้าใกล้ทำเนียบ 50 ม.ตามกฎหมายชุมนุม

ถ้าผู้ชุมนุมผ่านจุดนี้ไปได้แล้วไม่ไปทำเนียบตามเป้าหมายเดินต่อไปบนราชดำเนินนอกจะไปเจอ ถ.ศรีอยุธยา ลานพระราชวังดุสิต ซึ่งมีพระบรมรูปทรงม้า อยู่บริเวณดังกล่าวและเป็นเขตพระราชฐาน สถานที่เชิงสัญลักษณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง และเป็นจุดที่หมุดหายไป หมุดใหม่จะเป็นเป้าหมายมาที่นี่หรือไม่และตำรวจจะสกัดอย่างไรให้ห่าง 150 ม.ตามกฎหมาย ไม่ว่าผู้ชุมนุมจะเคลื่อนไปไหนมีคำแนะนำจากนักวิชาการว่า ให้ประกาศชัดเจนและให้ส่งตัวแทนไปเพื่อลดความเสี่ยงเผชิญหน้า

ผศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา กล่าวว่า การเคลื่อนขบวนสามารถเคลื่อนได้เพื่อให้เกิดความแอคทีฟในขบวนในการชุมนุม แต่อย่าลืมว่า สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้มันค่อนข้างเปราะบาง ทุกพื้นที่มันมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ทั้งสิ้น และการโปรยหัวข่าวของแกนนำบอกว่าจะไปตามหาหมุด ซึ่งมันมีช่องว่างให้ฝ่ายตรวงข้ามสามารถปลุกปั่นหรือไอโอขึ้นมา

อันนี้ต้องประเมิน ผมว่าเคลื่อนได้แต่ต้องลดเงื่อนไข หากทางกรุงเทพฯเปิดสนามหลวงให้เลยให้เป็นพื้นที่หลัก แล้วบริหารการชุมนุมให้อยู่ในจุดดังกล่าว อาจจะมีแฟลชม็อบ อาจจะมีดาวกระจายได้ และใช้โซเชียลมีเดียสร้างสัญลักษณ์ในการต่อสู้ โดยไปเพียง 2-3 คนแล้วใช้โซเชียลมีเดียช่วย ซึ่งจะทำให้มวลชนในต่างจังหวัดสนับสนุนก็จะมีพลัง

ด้านนายเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช รักษาการ ผอ.สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล กล่าวว่า เจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ หรือฝ่ายความมั่นคง ต้องเปลี่ยนทัศนคติ หรืออย่างน้อยก็ฟังทัศนคติอื่นสักนิดหนึ่ง เพราะผู้ชุมนุมไม่ได้เป็นศัตรูกับคุณ เขาก็เป็นเจ้าของภาษีที่จ่ายให้คุณนั่นแหละ เพราะฉะนั้นการตั้งด่านสกัดต้องถามว่าตั้งด่านเพื่ออะไร หรือเพื่อป้องกันอันตรายอะไรต้องตอบให้ได้ เพราะการชุมนุมก็เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะจะมีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญไม่ได้ ซึ่งอาจไม่เกี่ยวกับกฎหมายแต่เป็นเรื่องของทัศนคติ

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง