ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

THE EXIT : 60 วันทบทวน "เขื่อนเหมืองตะกั่ว" พัทลุง

สิ่งแวดล้อม
21 ก.ย. 63
17:06
1,054
Logo Thai PBS
THE EXIT : 60 วันทบทวน "เขื่อนเหมืองตะกั่ว" พัทลุง
เหตุการณ์กลุ่มรักษ์โตนสะตอและเครือข่ายผู้คัดค้านโครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองฯ จ.พัทลุง ปักหลักชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล นำไปสู่การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง 60 วัน เพื่อทบทวนว่าจะยุติ หรือเดินหน้าโครงการต่อไป

นายสมศักดิ์ เหล็มหมาด เกษตรกรหมู่ 1 ต.หนองธง อ.ป่าบอน จ.พัทลุง และเป็นอดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 เมื่อ 34 ปีก่อน เขาเป็นคนหนึ่งที่ไม่เชื่อว่าพื้นที่ ต.หนองธง ขาดแคลนน้ำ โดยมองว่า เกษตรกรในพื้นที่ยังบริหารจัดการน้ำได้อย่างเพียงพอ แม้การปรับเปลี่ยนมาปลูกไม้ผล ทำให้พื้นที่การเกษตรต้องการน้ำตลอดทั้งปีก็ตาม

 

นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่วฯ ซึ่งอยู่ห่างจากอ่างเก็บน้ำคลองป่าบอนฯ เพียง 3 กิโลเมตร นอกจากนั้นห่างออกไปอีก 14 กิโลเมตร ยังมีอ่างเก็บน้ำคลองหัวช้างฯ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร

ถามว่าเมื่อก่อนทำไมประชาชนไม่คัดค้านการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองป่าบอนฯ เพราะเป็นครั้งแรกที่คนที่นี่ได้เห็นเขื่อน แต่ประโยชน์มีน้อย ประชาชนจึงลุกมาต่อสู้ไม่ให้สร้างที่ใหม่ อีกทั้งทำลายแหล่งท่องเที่ยว น้ำตก แหล่งต้นน้ำ

ท่ามกลางอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่เดิม 2 แห่ง ในรัศมี 14 กิโลเมตรจากโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำเหมืองตะกั่ว ทำให้นายสมศักดิ์ ตั้งคำถามว่า กรมชลประทานสามารถหาแผนจัดการน้ำที่ไม่ใช่การสร้างอ่างเก็บน้ำแห่งที่ 3 ได้หรือไม่ เช่น ปรับปรุงฝายที่มีอยู่เดิม

 

ขณะที่นายสไว ละออกอ เกษตรกรหมู่ 4 ต.หนองธง อ.ป่าบอน จ.พัทลุง ซึ่งปลูกไม้ผลในที่ดิน 7 ไร่ บอกว่า บ่อที่เขาขุดไว้ในสวนกักเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้งได้เพียง 2 เดือน ทำให้ช่วงหน้าแล้งที่ผ่านมา ดอกของพืชที่ปลูกไว้ไม่งามพอ ส่งผลให้ผลผลิตน้อยจนแทบไม่ได้กำไร

 

10 ปีแล้วที่นายสไวเผชิญปัญหาน้ำแล้งไม่พอใช้ในสวนผลไม้ผสม สามารถดึงน้ำจากลำห้วยในกอยมาใช้ได้ไม่มากนัก เพราะไร่ของเขาอยู่ปลายลำห้วยจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้น้ำเต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องจากลำห้วยนี้แบ่งกันใช้ถึง 3 หมู่บ้าน การสร้างอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว จึงเป็นความหวังของเขา เพราะเชื่อว่าจะทำให้เกษตรกรในหมู่บ้านปลายน้ำไม่ขาดแคลนน้ำ


ผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเคยเป็นคณะทำงานศึกษาข้อเท็จจริงและปัญหาความขัดแย้งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อปี 2561 ให้ข้อมูลว่า จากการศึกษาของคณะทำงานฯ พบว่า จ.พัทลุง ไม่ได้มีปัญหาความแห้งแล้ง เพราะสถิติปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 2,000 มิลลิเมตร สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศซึ่งอยู่ที่ปีละ 1,300-1,500 มิลลิเมตร จึงไม่มีความจำเป็นต้องสร้างอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว

บริเวณนั้นมีอ่างเก็บน้ำหลายแห่ง อ่างป่าบอนความจุ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างหัวช้าง 30 ล้านลูกบาศก์เมตร ในหน้าแล้งที่น้ำน้อยที่สุด อ่างเก็บน้ำทั้ง 2 แห่งมีปริมาณน้ำ 40% หากจะนำมาใช้ในพื้นที่ก็มีวิธี ยกตัวอย่างใช้ปั๊ม หรือเดินท่อ ถูกกว่าสร้างอ่างใหม่

 

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน อ้างอิงข้อมูลจากผลการศึกษาด้านสมดุลน้ำ ที่ระบุว่าปัจจุบันพื้นที่ ต.หนองธง มีค่าขาดแคลนน้ำเฉลี่ยปีละ 3.51 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือขาดแคลนน้ำ 97 เดือนจาก 360 เดือน คิดเป็นร้อยละ 26.9 ของช่วงเวลา 360 เดือน ซึ่งถือว่าเกินค่ามาตรฐานการขาดแคลนน้ำที่ยอมให้ตามหลักวิชาการ ซึ่งต้องไม่เกินร้อยละ 20 หากมีการสร้างอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว กรมชลประทานประเมินว่า การขาดแคลนน้ำจะลดลงเหลือร้อยละ 5.8 ของช่วงเวลา 360 เดือนเท่านั้น


โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่วฯ เป็นโครงการก่อสร้างชลประทานขนาดกลาง หัวงานเป็นทำนบดินสูง 48 เมตร ยาว 500 เมตร งบประมาณการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำรวมกับการปรับปรุงฝายและระบบส่งน้ำ อยู่ที่ 997.36 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี

ช่วงหลังอาจมีเสียงสะท้อนกลับมาว่าประสบปัญหาไม่มีน้ำในคลองมารดต้นไม้ ถ้ามีอ่างเก็บน้ำก็จะมีการจัดการได้ชัดเจน เพราะมีน้ำต้นทุน คลองส่งน้ำ หรือท่อส่งน้ำ มีขอบเขตพื้นที่ที่เข้าไปดูแลได้ เรียกว่ามีความมั่นคง ถ้าไม่มีอ่างก็ไม่มีความมั่นคงเรื่องน้ำ

บริเวณก่อสร้างอยู่ในพื้นที่ป่าของอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ เนื้อที่ประมาณ 468.6 ไร่ ขณะนี้สถานะโครงการอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยคณะกรรมการ ซึ่งแต่งตั้งโดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2563 หลังจากถูกร้องเรียนว่า ที่มาโครงการไม่โปร่งใสและอาจไม่เข้าข่ายเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

 

นอกจากนี้ การสร้างอ่างเก็บน้ำอาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติบริเวณน้ำตกโตนสะตอ ระหว่างนี้กรมชลประทานไม่สามารถเดินหน้าโครงการอ่างเก็บน้ำได้เป็นระยะเวลา 60 วัน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง