วันนี้ (22 ก.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาคประชาชนนำโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw รวบรวมรายชื่อประชาชนได้กว่า 100,732 รายชื่อ เพื่อสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ โดยช่วงเวลา 13.00 น. iLaw ได้นัดรวมตัวกลุ่มผู้สนับสนุนและเครือข่าย บริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินเตาปูน เพื่อเดินนำรายชื่อทั้งหมดไปยื่นต่อประธานรัฐสภา ซึ่งจะมีการประชุมร่วมรัฐสภาในวันพรุ่งนี้ (23 ก.ย.) เกี่ยวกับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ
การตั้งโต๊ะล่ารายชื่อประชาชนครั้งล่าสุดของ iLaw เกิดขึ้นที่สนามหลวง เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา หลังจากที่ได้เริ่มกระบวนการล่ารายชื่อประชาชนมาตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค.2563 จากเดิมที่ขอสนับสนุนรายชื่อ 50,000 รายชื่อเท่านั้น โดยมาจาก 2 ช่องทางหลักคือ การตั้งโต๊ะตามสถาบันการศึกษา หรือพื้นที่สาธารณะที่จัดการชุมนุมแฟลชม็อบของกลุ่มนักศึกษา และเครือข่ายต่างๆ ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดตลอด 43 วันที่ผ่านมา ส่วนอีกช่องทางคือ การส่งไปรษณีย์ไปที่ iLaw โดยตรง เพื่อขอสนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทั้งฉบับ
ทั้งนี้ การล่ารายชื่อของ iLaw เพื่อยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นกระบวนการที่ทำตามมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เพื่อเสนอนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในการยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภาได้
นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw ชี้แจงว่า การผลักดันประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เกิดขึ้นภายใต้แคมเปญ "ร่วมรื้อ สร้าง ร่างรัฐธรรมนูญประชาชน" เพื่อรื้อระบอบอำนาจของ คสช., สร้างหนทางกลับสู่ประชาธิปไตย และเปิดทางร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ทุกประเด็น ทุกมาตรา โดยประชาชนทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ โดยได้ชูประเด็น "5 ยกเลิก" และ "5 แก้ไข" ดังนี้
ข้อเสนอ "5 ยกเลิก"
- ยกเลิกนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอก ตามมาตรา 272
- ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และกลไกอำนาจ คสช. ตาม ม.65 และ ม.275
- ยกเลิกแผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน เพื่อตัดอำนาจ ส.ว. ที่ต้องตรวจสอบตามแผนปฏิรูปนี้ตามหมวด 16
- ไม่เอาผู้บริหารท้องถิ่นที่ไม่ได้มาจาการเลือกตั้ง ตามมาตรา 252
- ยกเลิกมาตรา 279 ที่เกี่ยวกับการนิรโทษกรรม คสช.
ข้อเสนอ "5 แก้ไข"
- เปลี่ยนระบบ โดยให้กำหนดว่าบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น
- เปลี่ยนที่มาของ ส.ว.ชุดพิเศษ จากเดิมให้ คสช.คัดเลือก ไปเป็น ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อครั้งใช้รัฐธรรมนูญปี 2540
- เปลี่ยนกระบวนการที่มาของบุคคลมานั่งในตำแหน่งองค์กรอิสระ ด้วยการสร้างระบบสรรหาใหม่
- ปลดล็อกวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ใช้เสียงครึ่งหนึ่งของสภา โดยไม่ต้องมีอำนาจพิเศษ ส.ว. และไม่ต้องทำประชามติ
- ตั้ง ส.ส.ร.ชุดใหม่ ที่มาจาการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เริ่มวันแรก! ล่ารายชื่อ 5 หมื่นคนแก้รัฐธรรมนูญ
iLaw มาด้วย! ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อแก้รัฐธรรมนูญ
iLaw เตรียมบุกสภายื่น 7 หมื่นรายชื่อ แก้ร่างรัฐธรรมนูญ 22 ก.ย.นี้