ผู้รับเหมาเข้าขุดลอกแหล่งน้ำขององค์การบริหารส่วนตำบล ( อบต.) แห่งหนึ่งใน จ.ยโสธร การขุดลอกเกิดขึ้นหลังจาก อบต. เพิ่งได้รับการอนุมัติงบประมาณ เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา
ผู้รับเหมาขุดลอกแหล่งน้ำ กล่าวว่าเดือน มิ.ย.มีผู้รับเหมาบางรายไปขุดลอกแหล่งน้ำทั้งที่ยังไม่ได้ทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง เนื่องจากต้องรีบขุดให้แล้วเสร็จก่อนฝนตก เพราะการขุดลอกในหน้าฝนอย่างงานที่เค้าทำตอนนี้ลำบากกว่าต้องติดตั้งเครื่องสูบน้ำออกก่อนเพราะเสี่ยงที่รถแบคโฮจะติดหล่ม
แต่เพราะเหตุใดที่ทำให้ผู้รับเหมาบางรายกล้าไปขุดลอกทั้งยังไม่ได้ทำสัญญามีข้อสังเกตจากคนในวงการผู้รับเหมา คาดว่าได้ตกลงกันล่วงหน้าและผู้ที่กล้าขุดต้องมั่นใจว่าโครงการจะได้รับการอนุมัติอย่างแน่นอน
THE EXIT ได้รับข้อมูลจากผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน จ.ยโสธร ว่า หลังจากยื่นเสนอขอโครงการขุดลอกระหว่างรอการพิจารณาเค้าถูกกลุ่มขบวนการกลุ่มหนึ่งเรียกรับผลประโยชน์ด้วยข้อเสนอให้ตกลงทำสัญญาขุดลอกกับผู้รับเหมาที่ขบวนการนี้จัดหาให้หากไม่ตกลงโครงการที่ขอไปจะถูกตัด
นั่นหมายถึงระหว่างการพิจารณาโครงการมีกลุ่มนายหน้าทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างผู้รับเหมาและหน่วยงานของรัฐ
มีข้อมูลว่าผู้รับเหมาบางรายไม่ตกลงรับปากจ่ายสินบนหรือเงินทอนโครงการให้กลุ่มนายหน้าก็จะไม่ได้งาน
ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ยโสธร เข้าตรวจสอบโครงการขุดลอกและสร้างฝายจำนวน 44 โครงการ งบประมาณกว่า 22 ล้านบาท ของเทศบาลตำบลกุดเชียงหมี เมื่อพบว่า มีผู้รับเหมาเข้าไปขุดลอกแหล่งน้ำ ทั้งที่ยังไม่ได้ทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง ก่อนที่เทศบาลฯจะยกเลิกสัญญาโครงการที่ลักลอบขุด แต่ล่าสุดพบว่าการก่อสร้างฝายชะลอน้ำไม่เสร็จตามกำหนด เนื่องจากมีฝนตกหนักลำห้วยมีน้ำมากไม่สามารถก่อสร้างฐานรากได้
นอกจากฝายชะลอน้ำคอนกรีตยังมีฝายกระสอบทราย จำนวน 11 โครงการ งบประมาณโครงการละกว่า 470,000 บาท แต่ละโครงการจะสร้างฝายลักษณะนี้ 3-5 จุด ต่อเนื่องไปตามลำน้ำ
THE EXIT พบว่าหลายจุดกระสอบทรายถูกน้ำพัดพังเสียหาย ตลิ่งที่ขุดลอกใหม่ทรุดพังผู้รับเหมาเตรียมเข้าซ่อมแซม
ชาวบ้านในพื้นที่ให้ข้อมูลว่าพวกเขาถูกจ้างมาทำฝายกระสอบทรายด้วยค่าแรงวันละ 300 กว่าบาท
จุดนี้ เป็นจุดที่พวกเค้าเพิ่งเริ่มทำงานครั้งแรกและทำผิดแบบจึงต้องแก้ไขให้แน่นหนายิ่งขึ้น
ขณะที่เกษตรกรที่ต้องใช้ประโยชน์จากฝายบอกว่าไม่เคยต้องการฝายกระสอบทรายเพราะไม่เหมาะสมกับพื้นที่
THE EXIT ได้รับข้อมูลจากเครือข่ายภาคประชาชนรวมทั้งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรียกร้องให้ตรวจสอบการจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง ผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมีสำนักงบประมาณเป็นผู้พิจารณาอนุมัติโครงการ
พวกเค้ามองว่า บางโครงการขุดลอกและสร้างฝายอาจไม่คุ้มค่าและมีกลุ่มขบวนการที่ได้ผลประโยชน์จากงบประมาณก้อนนี้
เมื่อปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดติดตามตรวจสอบและเร่งรัดโครงการขุดลอก และสร้างฝายที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้แล้วเสร็จ
ด้านสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ยืนยันว่ากลไกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความสามารถควบคุมการก่อสร้างให้เป็นไปตามสัญญา เพื่อให้การใช้งบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่า