วันนี้ (24 ก.ย.2563) นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณีสื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่ หรือแชร์ข้อมูลที่มีทีมนักวิจัยชาวอิสราเอลพัฒนาน้ำยาหยอดตานาโน สามารถแก้ปัญหาสายตาสั้นและยาว โดยไม่ต้องใส่แว่นหรือคอนแทคเลนส์นั้น จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าน้ำยานาโนมีการศึกษาทดลองอยู่ในต่างประเทศจริง เป็นการทดลองโดยนำน้ำยาชนิดหนึ่งมาใช้กับดวงตาของหมูในห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นดวงตาที่ไม่ได้อยู่ในหมูที่มีชีวิตนำมาทดลองวิจัย พบว่ามีผลในการหักเหแสงของกระจกตา หรือการเปลี่ยนค่าสายตาได้ประมาณ 200-300 หน่วย ซึ่งในการทดลองนี้มีผลแค่ชั่วคราวเท่านั้น ได้ผลเพียงระยะเวลาสั้น ๆ เหตุเพราะการทดลองยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ยังไม่มีการทดลองในสัตว์หรือสิ่งมีชีวิต ดังนั้นหากมีปัญหาสายตา ควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง
"ยาหยอดตานาโน" เพิ่งเริ่มทดลอง
ขณะที่ นพ.เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวเพิ่มว่า โดยทั่วไปการแก้ไขสายตาผิดปกตินั้น ปัจจุบันใช้แสงเลเซอร์ไปปรับรูปทรงกระจกตาให้โค้งลดลง เนื่องจากการที่กระจกตาโค้งมากจะทำให้การหักเหของแสงผิดปกติ ทำให้เกิดภาวะสายตาสั้น จากผลการวิจัยน้ำยาหยอดตานาโนที่เผยแพร่อยู่ในสื่อโซเชียลนั้น ยังไม่ได้เป็นการปรับรูปทรงของกระจกตา แต่ไปลดความสามารถในการหักเหแสงของตัวกระจกตา ให้หักเหแสงได้น้อยลง โดยมาตรฐานทางการแพทย์การที่จะนำตัวยาหรือผลิตภัณฑ์ที่จะนำมาใช้ทางการแพทย์นั้นมาตรฐานในการทดลองยาชนิดหนึ่งจะต้องนำมาทดลองในห้องปฏิบัติการ ซึ่งยังไม่ใช้สิ่งมีชีวิต หลังจากได้ผลดีแล้วจึงจะเริ่มทำการทดลองกับสัตว์ทดลอง เช่น หนูบางสายพันธุ์ หมู หลังจากที่ทดลองในสัตว์ทดลอง พบว่าได้ผลดีและปลอดภัยจึงจะเริ่มทำการทดลองในมนุษย์ที่เป็นอาสาสมัคร ซึ่งหากได้ผลดีและปลอดภัยและไม่มีภาวะแทรกซ้อนแล้วถึงจะเริ่มนำมาใช้กับมนุษย์ โดยทั่วไปการทดลองยาแต่ละชนิดอาจจะต้องใช้เวลานาน
น้ำยานาโนที่เผยแพร่อยู่ในสื่อโซเชียลเพิ่งจะอยู่ในระยะแรก เป็นการทดลองในห้องปฏิบัติการเท่านั้น
เตือนใช้น้ำยาไม่ได้มาตรฐาน เสี่ยงตาบอด
จักษุแพทย์ขอเตือนเรื่องการใช้ยา หรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้กับดวงตา ควรระวังให้มาก เพราะดวงตาเป็นอวัยวะที่มีความบอบบางและติดเชื้อได้ง่าย การนำน้ำยาที่ยังไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานทางการแพทย์ หรือสิ่งที่ไม่สะอาดมาใช้กับดวงตา อาจเกิดการติดเชื้อที่รุนแรงจนทำให้สูญเสียดวงตาหรือตาบอดได้ ทั้งนี้ น้ำยาหยอดตานาโนยังอยู่ในระหว่างการทดลอง จึงยังไม่ทราบผลในการแก้ปัญหาสายตาอย่างชัดเจน หากมีปัญหากับดวงตา ควรปรึกษาจักษุแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป