การพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร หรือ City of Gastronomy คือ 1 ใน 7 แผนยุทธศาสตร์หลักที่เครือข่ายภาคเอกชนใน จ.ภูเก็ต เสนอให้รัฐบาลสนับสนุนการเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจของที่นี่ที่เดิมพึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างเดียวไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบยั่งยืนอีก 6 แผนที่เสนอ คือ การพัฒนาภูเก็ตเป็นเมืองการศึกษาระดับโลก การสร้างศูนย์กลางมารีน่า ศูนย์กลางทางการแพทย์ งานสปอร์ตและอีเวนท์ สมาร์ตซิตี้ และศูนย์กลางทูน่า หรือ การเป็นทูน่า ฮับ ของมหาสมุทรอินเดีย

เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า นี่คือต้นทุนเดิมของภูเก็ตที่เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงระดับโลกและเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่คนทั่วโลกต้องการกลับมาเยือนแต่พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไป ขณะที่การแข่งขันในตลาดการท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะเข้มข้นขึ้นเพราะทุกรัฐบาลต้องการรายได้มาฟื้นเศรษฐกิจ

จ.ภูเก็ต มีต้นทุนการปรับตัวที่ดี แต่จะให้ภาคเอกชนทำฝ่ายเดียวอาจไม่สำเร็จ เพราะตอนนี้ ต้องแก้ทั้งปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า และการปรับตัวไปสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ จึงเสนอให้ รัฐบาล เข้าไปสนับสนุนอย่างจริงจัง และทำให้ที่นี่เป็นพื้นที่ต้นแบบแต่การเปลี่ยนผ่าน จ.ภูเก็ต ไปสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ที่มีหลายฐานการผลิตต้องไปควบคู่การปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ และยกระดับทักษะฝีมือแรงงานใหม่ ให้สอดคล้องไปกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกหลังยุคโควิด ซึ่งเป็นอีกโจทย์หนึ่ง ที่ยังไม่มีการพูดถึงมากนัก