วานนี้ (28 ก.ย.2563) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย กล่าวว่า หลังจากมีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย กำหนดให้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา
คณะกรรมการฯ ได้รับข้อมูลจากภาคส่วนต่างๆ พอสมควร ทั้งที่เป็นการรายงานผลการดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และข้อเสนอจากบุคคลและกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่ให้ขยายเวลาบังคับใช้กฎหมาย ให้คงมติคณะกรรมการฯ และขอให้ทบทวนมติที่ให้ยกเลิกการใช้พาราควอต รวมทั้งมีผู้ส่งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบและแนวทางลดผลกระทบมาให้คณะกรรมการพิจารณา
ที่ประชุมมีการลงมติยังไม่สมควรทบทวนการออกประกาศ เนื่องจากประกาศเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา รวมทั้งมีเหตุผลรองรับชัดเจนว่าเป็นสารอันตรายมีผลเสียต่อสุขภาพ เห็นได้จากต่างประเทศที่ประกาศยกเลิกใช้สารนี้ในหลายประเทศแล้วเช่นกัน
ด้านนายอภัย สุทธิสังข์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตร กล่าวว่า เบื้องต้นยอมรับว่า ทางกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังไม่สามารถจัดหาสารทดแทนได้ แต่มีสารทางเลือกซึ่งต้นทุนสูงกว่า และกระบวนการทางเกษตรอินทรีย์ในการควบคุมกำจัดวัชพืช แมลง ศัตรูพืช ให้ผลผลิตทางการเกษตรปลอดสารเคมีด้วย
โดยกระทรวงเกษตรฯ จะร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ หามาตรการทางการตลาดด้านราคาพืชผลทางการเกษตรจะขายได้ราคาสูงขึ้น จูงใจให้เกษตรกรหันมาใช้กระบวนการเกษตรอินทรีย์มากขึ้น และเลิกใช้สารเคมีในที่สุด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
พบ "พาราควอต" ในน้ำปู จาก 24 ตัวอย่าง ใน 6 จังหวัดภาคเหนือ
ขอคกก.วัตถุอันตรายทบทวนแบนพาราควอต
มาตรการรองรับ การแบน “สารเคมีเกษตร”
อันตรายทบทวนแบนพาราควอต