เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร หรือ City of Gastronomy คือ 1 ในยุทธศาสตร์หลักของภาคเอกชน จ.ภูเก็ต ที่หวังเป็นกลไกหลักไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
จากเดิมที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก หลังจากเทศบาลนครภูเก็ตได้รับประกาศยกย่องเป็นเมืองสร้างสรรค์ ด้านอาหารจากยูเนสโก ประจำปี 2558 ซึ่งเป็นเมืองแรกของไทยและอาเซียน และเป็นหนึ่งใน 18 เมืองของโลกด้านอาหาร
ด้วยจุดเด่นของภูเก็ตที่มีความหลากหลายดานวัฒนธรรม ทั้ง อาหารทะเล อาหารไทย อาหารบาบ๋าท้องถิ่น และอาหารแปรรูปต่าง ๆ ซึ่งการได้รับการยกย่องเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารจึงเป็นโอกาสสำคัญในการต่อยอดธุรกิจเชิงอาหาร ซึ่งเป็นแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาหารในช่วงปี 2560 -2564
ข้อมูลจากบทความวิชาการของ เบญจมาภรณ์ ชำนาญฉา อาจารย์ประจำ คณะบัญชีและวิทยาการจัดการ วิทยาลัยเซาธ์อีสท์ บางกอก ชี้ให้เห็นว่า รายได้จากอาหารและค่าเครื่องดื่มของนักท่องเที่ยวชาวไทยปี 2558 นั้น
สัดส่วนรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ใช้จ่ายค่าที่พัก 29.83 % ค่าอาหารและเครื่องดื่ม 19.43 % ค่าซื้อของที่ระลึก 24.11 % และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ 26.58 % หรือรวมรายได้จากค่าอาหารและเครื่องดื่มกว่า 282,010 ล้านบาท
ขณะที่สัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทย ค่าที่พัก 21.31 % ค่าอาหารและเครื่องดื่ม 21.79 % ค่าซื้อของที่ระลึก 35.26 % และค่าใช้จ่ายอื่น 21.64 % หรือ รวมรายได้จากอาหารและเครื่องดื่มกว่า 174,851 ล้านบาท
นอกจากนี้ รายได้รวมจากค่าอาหารและเครื่องดื่มของชาวต่างชาติระหว่างปี พ.ศ.2557 - 2559 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2557 อยู่ที่ 220,177.01 ล้านบาท ปี 2558 อยู่ที่ 282,010.29 ล้านบาท และในปี 2559 อยู่ที่ 315,255.72 ล้านบาท
จากข้อมูลของรายงานภาวะเศรษฐกิจท่องเที่ยว Tourism Economic Review ปี 2559 พบว่า ประเทศไทย มีรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงอาหารจำนวน 456,0000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 20 จาก รายได้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งหมด
ดังนั้น ด้วยจุดแข็งของ จ.ภูเก็ต ที่มีความด้านอาหารหลากหลาย จนได้รับประกาศเป็น “เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร” หรือ “City of Gastronomy” นับได้ว่า แม้ภูเก็ตจะเผชิญกับผลกระทบของไวรัส COVID-19 อย่างรุนแรง แต่ภูเก็ตยังคงมีไม้เด็ดคือวัฒนธรรมการกินที่เชื่อว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถนำมาใช้พลิกฟื้นความสามารถด้านเศรษฐกิจได้